ร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. ...

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 20, 2013 16:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งรัดการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 45 วัน

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดคำนิยาม เช่น คำว่า “เรือ” “คนประจำเรือ” “เจ้าของเรือ” “นายเรือ” “ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ” “ตันกรอส” และ “ใบรับรองด้านแรงงานทางทะเล” เป็นต้น

2. กำหนดให้เจ้าของเรือจัดให้มีอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 และพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไว้บนเรือ และกำหนดให้บรรดาคดีที่เกิดจากข้อพิพาทต่าง ๆ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน

3. กำหนดเงื่อนไขในการทำงานบนเรือ กำหนดห้ามเจ้าของเรือให้บุคคลอายุต่ำกว่า 16 ปี ทำงานบนเรือ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในเวลากลางคืน และห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือที่ไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงและไม่ผ่านการฝึกอบรมทำงานบนเรือ

4. กำหนดวิธีการจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือ โดยกำหนดห้ามผู้ใดกระทำการเป็นผู้ให้บริการจัดหางาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ให้บริการจัดหางานต้องวางหลักประกัน และห้ามผู้ให้บริการจัดหางานเรียกเก็บค่าบริการจัดหางานจากคนประจำเรือ

5. กำหนดให้เจ้าของเรือทำข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือเป็นหนังสือ ห้ามหักค่าจ้างและ ค่าล่วงเวลา คนประจำเรือมีสิทธิลาขึ้นฝั่ง กำหนดชั่วโมงการทำงานรวมแล้วไม่เกิน 14 ชั่วโมงในรอบ 24 ชั่วโมง และชั่วโมงพักผ่อนไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงในรอบ 24 ชั่วโมง และให้เจ้าของเรือจัดวันหยุดประจำปีให้แก่คนประจำเรือไม่น้อยกว่าปีละ 30 วัน

6. กำหนดให้คนประจำเรือมีสิทธิเดินทางกลับเมื่อสิ้นสุดตามข้อตกลงการจ้างงาน และให้เจ้าของเรือจัดทำหลักประกันทางการเงินเพื่อส่งตัวกลับ

7. กำหนดให้เจ้าของเรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่คนประจำเรือในกรณีที่เรือเสียหายหรือเรือจม

8. กำหนดให้เจ้าของเรือจัดให้มีที่พักอาศัย สถานที่สันทนาการบนเรือ ให้เจ้าของเรือจัดเตรียมอาหารและน้ำดื่มที่มีคุณภาพ และให้คนประจำเรือที่ได้รับการจ้างงานเป็นพ่อครัวต้องผ่านการฝึกอบรม

9. กำหนดให้มีการคุ้มครองสุขภาพ การรักษาพยาบาล สวัสดิการ และการคุ้มครองด้านประกันสังคม กำหนดให้เจ้าของเรือต้องจัดให้มีห้องพยาบาลและอุปกรณ์พยาบาลบนเรือ ให้เจ้าของเรือเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและบาดเจ็บของคนประจำเรือ และให้เจ้าของเรือจัดให้มีการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยบนเรือ

10. กำหนดวิธีการปฏิบัติและการบังคับใช้ด้านแรงงานทางทะเล

11. กำหนดให้คนประจำเรือและเจ้าของเรือมีสิทธิรวมตัวกัน เพื่อเจรจาต่อรองหรือเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน

12. กำหนดให้มีคณะกรรมการทางทะเล โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะ และให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงานทางทะเล เสนอความเห็นในการแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล และเสนอแนะต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

13. กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ และให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเปรียบเทียบ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 สิงหาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ