1. เห็นชอบร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation Agreement : CMIM Agreement) ฉบับปรับปรุง และนำเสนอร่างความตกลงดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้ร่างความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ต่อไป
2. เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบตาม 1. แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติการลงนามในร่างความตกลงฯ และมอบหมายให้
2.1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในความตกลงฯ และหนังสือแนบท้ายความตกลงเพื่อยืนยันการผูกพันในการสมทบเงินใน CMIM ในวงเงิน 9.104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนลงนามในหนังสือรับทราบการขอรับความช่วยเหลือและหนังสือยืนยันการปฏิบัติตามเงื่อนไขของความตกลง
2.3) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาลงนามในหนังสือให้ความเห็นทางกฎหมายเมื่อประเทศไทยต้องการขอรับความช่วยเหลือภายใต้ความตกลง CMIM ฉบับปรับปรุง
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญในความตกลงดังกล่าว ให้ผู้ลงนามสามารถใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ ได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามในความตกลง CMIM ฉบับปรับปรุง
ข้อเท็จจริง
กค. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า
1. สืบเนื่องจากภาวะความท้าทายของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา วิกฤตหนี้สาธารณะของสมาชิกสหภาพยุโรป และความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จึงได้มีความเห็นร่วมกันว่าอาเซียน+3 ควรมีการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกให้แก่สมาชิก โดยให้พิจารณาทบทวนหลักการสำคัญของ CMIM เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินหลักของภูมิภาคในการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือทางการเงินที่ได้รับจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ
2. ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้ร่วมกันจัดทำร่างความตกลง CMIM ฉบับปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ CMIM เสร็จแล้ว โดยจะใช้ร่างความตกลง CMIM ฉบับปรับปรุงนี้ทดแทนความตกลง CMIM ฉบับปัจจุบัน ซึ่งร่างความตกลง มีสาระสำคัญตามกรอบการเจรจา ฯ ที่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) การเพิ่มวงเงินของ CMIM ให้สูงขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น จะเพิ่มวงเงินผูกพันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศใน CMIM จากเดิม 4.552 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 9.104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
2) การเพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือกรณีไม่เข้าโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF De-linked Portion)
3) การจัดตั้งกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (Crisis-Prevention Facility) เพิ่มจากเดิมที่ CMIM จะให้ความช่วยเหลือหลังจากที่สมาชิกเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศได้เห็นชอบกับการกันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 9.104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสมทบใน CMIM ด้วยแล้ว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 สิงหาคม 2556--จบ--