สำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 เรื่อง การขยายระยะเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขอแก้ไขหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรการชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัยสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเดิม มอบหมายให้กระทรวงการคลังเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เป็น มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง โดยให้เป็นผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ ศอ.บต. ดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
กค. เสนอว่า
1. มาตรการชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองการก่อการร้ายอยู่ภายใต้ “โครงการการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” ของ กค. ซึ่งเป็นโครงการสำหรับผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา) ที่ทำประกันภัยทรัพย์สินตามกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้าย โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งรัฐได้ชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 0.3-2 ให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ผ่านมารัฐสนับสนุนงบประมาณภายใต้วงเงินปีละ 20 ล้านบาท
2. มาตรการฯ มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550-31 ธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 โดยมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี และต่อมาได้มีการขยายระยะเวลามาตรการฯ เพิ่มอีก 3 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553-31 ธันวาคม 2555
3. ในช่วงแรกของการดำเนินการตามมาตรการฯ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ต่อมา มาตรการฯ ดังกล่าวได้มีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบจาก กอ.รมน. เป็น ศอ.บต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้แยกหน่วยงานออกจากโครงสร้างของ กอ.รมน. ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 โดย ศอ.บต. เป็นผู้รับผิดชอบในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2554 เป็นต้นมา
4. ในทางปฏิบัติของการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับมาตรการฯ นั้น ศอ.บต. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้จะเป็นผู้ดำเนินการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และเป็นเรื่องที่เข้าใจร่วมกันมาโดยตลอด ซึ่งตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ที่ได้เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีนั้นก็ได้เสนอเพียงให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอตั้งงบประมาณ ซึ่งควรหมายถึง ศอ.บต. มิใช่ กค. ในฐานะผู้เสนอเรื่องมาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
5. เพื่อให้การเสนอของบประมาณสำหรับมาตรการฯ เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นไปตามแนวปฏิบัติจริง จึงขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 โดยขอแก้ไขหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากเดิม มอบหมายให้ กค. เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เป็น มอบหมายให้ ศอ.บต. เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เนื่องจาก ศอ.บต. เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในเรื่องการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับมาตรการฯ มาโดยตลอด ทั้งนี้ หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว ศอ.บต. สามารถดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับมาตรการดังกล่าว เฉพาะปี พ.ศ. 2556 จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นได้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 สิงหาคม 2556--จบ--