ร่างหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 27, 2013 17:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี(นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ประธานกรรมการ เสนอ ที่มีมติรับทราบร่างหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปรับปรุงแก้ไขร่างหลักเกณฑ์ฯ ตามความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ แล้วดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปได้

ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแผนป้องกันสาธารณภัย โดยเฉพาะประเภทภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำและที่สามารถคาดการณ์ได้ แล้วดำเนินการขอจัดสรรงบประมาณต่อไป โดยให้กระทรวงมหาดไทยประชาสัมพันธ์การให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรแก่ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินให้ประชาชนได้รับทราบอย่างถูกต้องและทั่วถึงอีกด้วย

สำหรับ (ร่าง) หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 มีดังนี้

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 ของหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ซึ่งกระทรวงการคลังกำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 27 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินไว้ดังต่อไปนี้

1. หลักเกณฑ์นี้เรียกว่า “หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556”

2. หลักเกณฑ์นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป

3. ให้ยกเลิก หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2552

4. ขอบเขตการจ่ายเงินทดรองราชการ จะต้องเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามความหมายแห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556

5. การจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ด้านการเกษตร ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นตัวเงินในลำดับแรกแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น โดยการเบิกจ่ายให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตรา ดังต่อไปนี้

5.1 ด้านพืช ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นเงินในลำดับแรกหรือเป็นปัจจัยการผลิต ดังนี้

(1) ให้ช่วยเหลือพื้นที่ที่เพาะปลูกพืชเสียหายตามที่เสียหายจริง ไม่เกินรายละ 30 ไร่ในอัตรา ดังนี้

                     - ข้าว              ไร่ละ 1,113 บาท
                     - พืชไร่             ไร่ละ 1,148 บาท
  • พืชสวนและอื่น ๆ ไร่ละ 1,690 บาท

(2) กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกได้ถูกหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน รวมทั้งซากวัสดุทุกชนิดทับถมจนไม่สามารถใช้เพาะปลูกได้ และหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือกรณีดังกล่าวได้ ให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเป็นค่าจ้างเหมาในการขุดลอก ขนย้ายหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน รวมทั้งซากวัสดุที่ทับถมพื้นที่แปลงเกษตรกรรม เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชอายุสั้นได้ในขนาดพื้นที่ไม่เกิน 5 ไร่ ทั้งนี้ ราคาไม่เกิน ไร่ละ 7,000 บาท

(3) กรณีเกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืช ให้ช่วยเหลือในการจัดหาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ชีวภัณฑ์ หรืออินทรียวัตถุ ตลอดจนวัสดุ อุปกรณ์ทุกชนิด ในการกำจัดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชทุกชนิด ตามราคาท้องตลาดในขณะนั้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ

(4) การให้ความช่วยเหลือเป็นปัจจัยการผลิต

การดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเป็นปัจจัยการผลิตให้ดำเนินการจัดหาปัจจัยการผลิตตามอัตราที่กำหนดในหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ โดยให้ใช้บัญชีราคากลางและอัตราการใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ตามประกาศกรมส่งเสริมการเกษตร โดยความเห็นชอบของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้ถือประกาศที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์นี้ด้วย

5.2 ด้านประมง ให้ดำเนินการช่วยเหลือ ดังนี้

การให้ความช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติ ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นตัวเงินในลำดับแรก หรือเป็นปัจจัยการผลิต ตามอัตราการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

5.2.1 กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล ปูทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 10,920 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่

5.2.2 ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นนอกจากข้อ 5.2.1 ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,225 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่

5.2.3 สัตว์น้ำตามข้อ 5.2.1 และข้อ 5.2.2 ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ตารางเมตรละ 315 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร

ทั้งนี้ หากคิดคำนวณพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติ รายใดจะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินต่ำกว่า 315 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 315 บาท

5.3 ด้านปศุสัตว์

5.3.1 ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีที่เป็นการจัดหาพืชอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ เพื่อป้องกันและกำจัดโรค การฟื้นฟูสุขภาพสัตว์เลี้ยง และจัดหาอาหารสำเร็จรูปตามราคาท้องตลาด หรือตามความจำเป็นเหมาะสม

5.3.2 ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นตัวเงินในลำดับแรก หรือเป็นปัจจัยการผลิต ดังนี้

5.3.2.1 การให้ความช่วยเหลือกรณีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เสียหาย

(1) สำหรับแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์สาธารณะที่ได้รับความเสียหาย และจำเป็นจะต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพให้ดำเนินการช่วยเหลือพันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้น ๆ ในปริมาณที่สอดคล้องกับขนาดของพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย โดยใช้เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กิโลกรัม หรือใช้หน่อพันธุ์ หรือท่อนพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กิโลกรัม

(2) สำหรับแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ส่วนตัวของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายและจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพให้ดำเนินการช่วยเหลือพันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้น ๆ ในปริมาณที่สอดคล้องกับขนาดของพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย แต่ไม่เกินรายละ 20 ไร่ โดยใช้เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ ไม่เกินไร่ละ 2 กิโลกรัม หรือใช้หน่อพันธุ์ หรือท่อนพันธุ์ ไม่เกินไร่ละ 250 กิโลกรัม

(3) ราคาพันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่จะให้ความช่วยเหลือ ตามข้อ (1) และ (2) กำหนดราคาเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไม่เกินกิโลกรัมละ 110 บาท หน่อพันธุ์หรือท่อนพันธุ์พืชอาหารสัตว์ ไม่เกินกิโลกรัมละ 2.50 บาท

5.3.2.2 การให้ความช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย ให้ความช่วยเหลือตามจำนวนที่เสียหายจริง แต่ไม่เกินเกณฑ์การช่วยเหลือที่กำหนด โดยมีหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ ดังนี้

ชนิดสัตว์                       อัตราตัวละไม่เกิน (บาท)          เกณฑ์การช่วยเหลือต่อราย
1. โค                                                     ไม่เกินรายละ 2 ตัว
- อายุน้อยกว่า 6 เดือน                 6,000
- อายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี               12,000
- อายุมากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี            16,000
- อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป               20,000
2. กระบือ                                                  ไม่เกินรายละ 2 ตัว
- อายุน้อยกว่า 6 เดือน                 8,000
- อายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี               14,000
- อายุมากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี            18,000
- อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป               22,000
3. สุกร                                                    ไม่เกินรายละ 10 ตัว
- อายุ 1-30 วัน                      1,300
- อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป              3,000
4. แพะ                                                    ไม่เกินรายละ 10 ตัว
- อายุ 1-30 วัน                      1,000
- อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป              2,000
5. แกะ                                                    ไม่เกินรายละ 10 ตัว
- อายุ 1-30 วัน                      1,000
- อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป              2,000
6. ไก่พื้นเมือง/ไก่งวง                                         ไม่เกินรายละ 300 ตัว
- อายุ 1-21 วัน                         25
- อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป                50
7. ไก่ไข่                                                   ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
- อายุ 1-21 วัน                         20
- อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป                 80
8. ไก่เนื้อ                                                  ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
- อายุ 1-21 วัน                         20
- อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป                 50
9. เป็ดไข่                                                  ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
- อายุ 1-21 วัน                         20
- อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป                 50
10. เป็ดเนื้อ/เป็ดเทศ                                         ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
- อายุ 1-21 วัน                         20
- อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป                 50
11. นกกระทา                                               ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
- อายุ 1-21 วัน                          8
- อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป                 15
12. นกกระจอกเทศ                    2,000                  ไม่เกินรายละ 10 ตัว
13. ห่าน                              100                  ไม่เกินรายละ 300 ตัว

5.3.3 ให้งดเว้นการจ้างเหมายานพาหนะเพื่อขนส่งสัตว์หรืออาหารสัตว์ ที่ได้จากการจัดซื้อจัดจ้างไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่เสียหาย โดยให้กำหนดเป็นเงื่อนไขให้ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบการขนส่งจนถึงปลายทางที่กำหนด

5.3.4 การกำหนดราคาด้านปศุสัตว์ ให้รวมค่าขนส่งถึงเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ว

5.4 ด้านการเกษตรอื่น ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ดังนี้

5.4.1 การปรับเกลี่ยพื้นที่ด้านการเกษตรที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับเกลี่ยพื้นที่การไถพรวน การก่อสร้างคันดิน เพื่อการเพาะปลูกพืชหรือประกอบกิจกรรมด้านการเกษตรที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติ ให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายโดยเหมาจ่าย ราคาไร่ละ 700 บาท

5.4.2 ค่าซ่อมแซมอาคารชลประทานและระบบชลประทานให้สามารถใช้งานได้ในช่วงฉุกเฉิน โดยให้ดำเนินการได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งและระบายน้ำ

หากใช้เครื่องจักรกลของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อดำเนินการขุดลอกเปิดทางน้ำ งานกำจัดวัชพืชที่กีดขวางการระบายน้ำ งานขุดลอกดิน ทราย วัสดุ ที่ทบถมทางระบายน้ำ ให้ถืออัตราราคางานตามราคากลางที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณ/กระทรวงการคลัง มาใช้โดยอนุโลม

5.4.3 ค่าจ้างเหมารถยนต์ ค่าระวางบรรทุกรถไฟและเรือบรรทุกของเอกชน เพื่อใช้ในการขนย้ายสัตว์เลี้ยงที่ประสบภัย และที่นำไปสนับสนุนหรือขนส่งพืชหญ้าอาหารสัตว์ หรืออาหารสัตว์ ให้เบิกจ่ายดังนี้

(1) ค่าจ้างเหมารถยนต์และเรือบรรทุกของเอกชน ให้จ่ายเป็นรายวันตามราคาท้องถิ่น

(2) ค่าระวางบรรทุกทางรถไฟ ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น

6. กรณีมีความจำเป็น หากรายการใดมิได้กำหนดให้จ่ายเป็นเงิน ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจอนุมัติให้การช่วยเหลือพิจารณาให้จ่ายเป็นเงินก็ได้ โดยคำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 สิงหาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ