สรุปรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 3, 2013 17:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2556 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. การจ้างงานและรายได้

1.1 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 และมีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.73 ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว การปรับค่าจ้างแรงงาน 300 บาทและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้สถานประกอบการพยายามปรับการทำงานให้อยู่ในช่วงเวลาปกติมากขึ้น โดยแรงงานเอกชนที่ทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป มีจำนวนลดลงร้อยละ 6.8 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 0.4 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

1.2 ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ขณะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ทำให้ค่าจ้างและเงินเดือนภาคเอกชนที่แท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 สำหรับผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ต่ำกว่าร้อยละ 4.0 ในไตรมาสที่แล้ว ซึ่งต้องเร่งรัดการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อลดแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิต และผลประกอบการของกิจการที่จะส่งผลต่อเนื่องต่อการตัดสินใจในการจ้างงาน

1.3 แรงงานเยาวชนที่จะเป็นกำลังหลักในอนาคตมีแนวโน้มลดลงและส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำ โดยอัตราการมีส่วนร่วมกำลังแรงงานเยาวชนลดลงจากร้อยละ 53.1 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 46.8 ในปี 2555 หรือมีประมาณ 4.82 ล้านคน เนื่องจากเยาวชนประมาณร้อยละ 40 ยังอยู่ระหว่างการศึกษา แรงงานกลุ่มเยาวชนร้อยละ 67.9 มีการศึกษาระดับมัธยมต้นและต่ำกว่า และร้อยละ 18.8 มีการศึกษาระดับมัธยมปลาย ขณะที่การศึกษาระดับ ปวช. และปวส. ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.7 และ 3.9 ตามลำดับ ที่เหลือร้อยละ 3.7 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและมากกว่า ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานเยาวชนให้สูงขึ้นเพื่อสร้างกำลังแรงงานของประเทศให้มีคุณภาพสูงขึ้น

2. ด้านสุขภาพ: เยาวชนมีความเครียดและมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น ผลการสำรวจของสถาบันรามจิตติเรื่องสภาวการณ์เด็กและเยาวชนไทยในรอบปี 2555 พบว่า สาเหตุของความเครียดส่วนใหญ่มาจากปัญหาการเรียน เด็กระดับอุดมศึกษามีความเครียดมากที่สุดร้อยละ 46 รองลงมาคือ เด็กระดับอาชีวศึกษามีความเครียดร้อยละ 45 โดยเด็กมีอาการเครียดจนมีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง หรืออาเจียน ขณะที่กลุ่มวัยรุ่น 10-19 ปี ก็มีการฆ่าตัวตายประมาณปีละ 200 คน ซึ่งมีสาเหตุจากปัญหาการเรียนและปัญหาความรัก และข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาพบว่า กลุ่มเยาวชนอายุ 15—24 ปี มีอัตราป่วย 62.79 รายต่อประชากรแสนคนในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 90.06 รายต่อประชากรแสนคนในปี 2554 ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราป่วยรวม 2 เท่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันร้อยละ 83

3. ด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทย: อัตราการสูบบุหรี่และดื่มสุรามีแนวโน้มลดลง จำนวนผู้สูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลงจาก 11.96 ล้านคนในปี 2544 เป็น 10.91 ล้านคนในปี 2552 แต่ในปี 2554 กลับปรับเพิ่มขึ้นเป็น 11.51 ล้านคน ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังการส่งเสริมการขายแบบใหม่ๆ ที่จะทำให้เด็กซึมซับสินค้าโดยไม่รู้ตัวจนกลายเป็นนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่ ขณะที่อัตราการดื่มสุราก็ลดลงจากร้อยละ 32.6 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 31.5 ในปี 2554 อย่างไรก็ดี ในแต่ละปีประเทศต้องสูญเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.2 แสนล้านบาทต่อปีจากการที่คนไทยเสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 40,000 คนต่อปี อีกทั้งยังใช้เงินภาษีในการรักษาพยาบาลอีกกว่า 6,800 ล้านบาท

4. ด้านความมั่นคงทางสังคม: มีประเด็นเฝ้าระวัง ดังนี้

4.1 สถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดยังคงทวีความรุนแรง พบการจับกุมผู้ค้าและผู้เสพยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดของคดีอาญารวม โดยรับแจ้ง 110,711 ราย เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 และจากไตรมาสก่อนหน้า ร้อยละ 19.7 และ 0.1 ตามลำดับ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 115,228 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 55.2 แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.2 นอกจากนี้ มีการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นทั้งนักค้ารายใหม่และเป็นผู้เสพ โดยปลายปี 2555 พบนักค้ารายใหม่อายุน้อย 12 ปี

4.2 การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 9 และพบแนวโน้มการเสียชีวิตของกลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นสูงขึ้น เด็กอายุ 1-15 ปี เสียชีวิตกว่าปีละ 650 ราย เยาวชนวัย 15-24 ปี ปีละ 3,600 ราย การรณรงค์ใช้รถจักรยานเป็นหนทางสำคัญในการลดอุบัติเหตุ โดยกระตุ้นให้เกิดการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในการเดินทางระยะสั้น รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่รถจักรยาน โดยจัดระบบจราจรที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน จัดให้มีช่องทางจราจรสำหรับรถจักรยาน หรือขนานไปกับถนนในเขตเมือง มีการจำกัดความเร็วบนถนนรถจักรยานไว้ไม่เกิน 30 กิโลเมตร รวมทั้งผู้ขับขี่ต้องเรียนรู้วิธีการขี่จักรยานที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัย

5. เรื่องเด่นประจำฉบับ “แม่วัยใส….ปัญหาและทางออก”

การเพิ่มขึ้นของแม่วัยรุ่นสะท้อนถึงพ่อแม่วัยรุ่นซึ่งอยู่ในวัยแรงงานจะขาดศักยภาพและโอกาสด้านอาชีพและกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อความยากจนที่จะถ่ายทอดวงจรสู่ลูก ขณะที่อัตราเจริญพันธ์ทั่วไปมีแนวโน้มลดลงทำให้เด็กที่เกิดมีจำนวนลดลง และอีกจำนวนหนึ่งได้รับการพัฒนาไม่เต็มศักยภาพ ส่งผลต่อกำลังคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศที่เป็นสังคมสูงอายุ

5.1 สถานการณ์และคุณลักษณะแม่วัยรุ่น

1) อัตราแม่อายุ 15-19 ปี ต่อประชากรหญิงกลุ่มอายุ 1,000 คน เพิ่มขึ้น จาก 39.7 ในปี 2539 เป็น 53.6 ในปี 2554 หรือมีอัตราแม่อายุต่ำกว่า 20 ปี คิดเป็นร้อยละ 14.32 ของแม่ทุกกลุ่มอายุ ทั้งนี้ อัตราแม่วัยรุ่นควรมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากมีการขยายโอกาสทางการศึกษา อย่างไรก็ดี ยังมีเด็กจำนวนถึง 6 ใน 10 ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่อายุ 18 ปี

2) จำนวนแม่วัยรุ่นมีความสัมพันธ์กับจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยและความยากจน โดยจังหวัดที่มีปีการศึกษาเฉลี่ยต่ำมีแนวโน้มที่จะมีแม่วัยรุ่นสูง ขณะที่จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงแนวโน้มจะมีแม่วัยรุ่นสูงด้วย ซึ่งสอดคล้องกับคุณลักษณะสำคัญของกลุ่มแม่วัยรุ่น คือ ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียน/พักการเรียนร้อยละ 70 ไม่มีอาชีพร้อยละ 53.2 ขณะที่แฟนประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรร้อยละ 67.2 และประมาณร้อยละ 70 พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ตนเองหรือพ่อแม่แฟน และแหล่งค่าใช้จ่ายมาจากพ่อแม่ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและเกษตรกรที่ส่วนใหญ่มีรายได้พอใช้จ่ายไม่เหลือเก็บ

3) จำนวนแม่วัยรุ่นที่เพิ่มขึ้นนี้ยังไม่นับรวมวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์แล้วทำแท้ง เนื่องจากยังขาดข้อมูล ทั้งนี้ มีการคาดประมาณว่ามีคนตั้งครรภ์แล้วทำแท้งจำนวนทั้งสิ้น 1-2 แสนรายต่อปี โดย 1 ใน 3 เป็นวัยรุ่นหรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 3-5 หมื่นคน ขณะที่กลุ่มแม่วัยรุ่นร้อยละ 27.1 ตั้งครรภ์เพราะไม่มีทางเลือกและ/หรือไม่มีโอกาสยุติการตั้งครรภ์

5.2 แนวทางและการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาแม่วัยรุ่น

1) การสนับสนุนให้นักเรียนคงอยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มากที่สุด รวมทั้งให้โอกาสกลุ่มแม่วัยรุ่นกลับมาเรียนจนจบหรือเพิ่มทักษะด้านอาชีพหลังคลอด

2) การให้ความรู้เรื่องครอบครัวศึกษา รวมถึงอนามัยเจริญพันธ์ เพศศึกษาอย่างรอบด้าน ร่วมกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์ ยาเสพติดฯ การปรับเจตคติและค่านิยมในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างรับผิดชอบ การปรับปรุงช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเด็กนอกระบบโรงเรียน

3) การปรับปรุงการให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธ์ โดยยึดหลักความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยให้มีทางเลือกที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มวัย มีรูปแบบบริการ community family planning และ sex counselor รวมทั้งการปกปิดและรักษาความลับของเด็ก

4) การให้ความช่วยเหลือแม่วัยรุ่น/แม่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ในรูปแบบศูนย์ช่วยเหลือสังคม โดยครอบคลุมเรื่องที่พัก และการเลี้ยงดูบุตร

5) การพัฒนาข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและกลุ่มเสี่ยง เช่น เป็นครอบครัวแตกแยกหรืออยู่กับตายาย/ญาติ รวมถึงการปฏิบัติงานและการประเมินประสิทธิภาพการตั้งครรภ์และการยุติการตั้งครรภ์ไม่ปลอดภัย เพื่อการกำหนดนโยบายและการป้องกันแก้ไขปัญหาแม่วัยรุ่น

6) การขับเคลื่อนนโยบายจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมไปสู่การปฏิบัติระดับจังหวัด โดยการบูรณาการ การดำเนินงานของสถาบันการศึกษาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการให้บริการ ศึกษา และให้ข้อมูลทางเลือกแก่ผู้ประสบปัญหา เพื่อให้การดำเนินงานในระดับจังหวัดสามารถปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กันยายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ