โครงการจัดงานประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 3, 2013 17:43 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง โครงการจัดงานประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12

(The 12th Asia Pacific Orchid Conference 2006 : APOC 2016)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการโครงการประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12 (The 12th Asia Pacific Orchid Conference 2006 : APOC 2016) ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2559

2. มอบหมายให้ กษ. (กรมวิชาการเกษตร) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการจัดงานโครงการประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12

3. มอบหมายให้ กษ. พิจารณารายละเอียดงบประมาณและสถานที่การจัดงานและเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในครั้งต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า

1. การประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก (APOC) ริเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) โดย ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มขณะนั้น จุดประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์และพัฒนากล้วยไม้ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยเริ่มครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) ที่ประเทศญี่ปุ่น และจะมีการจัดการประชุมขึ้นทุก ๆ 3 ปี ประเทศสมาชิกจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยได้จัดการประชุมวิชาการกล้วยไม้การจัดแสดงงบและการประกวดกล้วยไม้ รวมทั้งการจำหน่ายสินค้ากล้วยไม้ ซึ่งประเทศสมาชิก APOC ประกอบด้วย ญี่ปุ่น ไทย มาเลเซีย สหภาพเมียนมาร์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ไต้หวัน สาธารณรัฐประชาชนจีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

2. ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการนำเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสัมมนากล้วยไม้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12 ในปี พ.ศ. 2559 มีดังนี้

2.1 จะเป็นประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรกล้วยไม้เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาวงการกล้วยไม้ในกลุ่มประเทศสมาชิกและนานาประเทศตามวัตถุประสงค์ของ APOC

2.2 จะเป็นโอกาสของประเทศไทยในการนำเสนอบทบาทด้านกล้วยไม้สู่นานาชาติ มีความหลากหลายของพันธุกรรมกล้วยไม้กว่า 1,000 ชนิด จากทั่วโลกมี 25,000 ชนิด นักกล้วยไม้ไทยมีทักษะในการสร้างลูกผสมใหม่ ๆ กว่า 1,000 สายพันธุ์สู่การอนุรักษ์และการพัฒนา

2.3 กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านงานวิจัยและพัฒนากล้วยไม้ของ กษ. ดังนั้น จะทำให้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือทางด้านวิชาการ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันในกลุ่มประเทศสมาชิก

2.4 เพื่อแสดงถึงศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศไทยทั้งด้านการผลิตและการตลาด และเป็นการสนับสนุนด้านการส่งออกกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ไปสู่ตลาดโลก ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกเขตร้อนรายใหญ่ของโลก รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีกับกลุ่มประเทศสมาชิกและประเทศคู่ค้า

2.5 เป็นการประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ของประเทศไทย ซึ่งไม่เฉพาะด้านกล้วยไม้เท่านั้น ยังรวมถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านการศึกษาทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กันยายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ