ร่างพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน พ.ศ. ...

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 10, 2013 16:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้

1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน พ.ศ. ... ที่ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ

2. เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2556 วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ประธานกรรมการ เสนอ ดังนี้

2.1 ร่างมาตรา 4 นิยามคำว่า “โบราณสถาน” ให้แก้ไขเป็น “หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ที่โดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์ หรือเกี่ยวกับวัตถุที่พบอยู่ในอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ทางศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม หรือโบราณคดี และให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ เฉพาะที่มีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบห้าปีขึ้นไป” ตามที่ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข

2.2 ร่างมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ให้แก้ไขจาก “ภายในหกสิบวัน” เป็น “ภายในเก้าสิบวัน” แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้อธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานใด ๆ ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง รักษา และทำนุบำรุงโบราณสถาน พร้อมทั้งมีอำนาจกำหนด เขตโบราณสถาน บริเวณโดยรอบ โบราณสถาน และเขตโบราณสถานต่อเนื่องด้วย

2. กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินหรือมิได้อยู่ในความครอบครองของผู้ใดและยังไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนหรือเตรียมการขึ้นทะเบียน พร้อมทั้งกำหนดเขตโบราณสถานและเขตโบราณสถานต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามหลักการที่ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแล รักษา อนุรักษ์ และทำนุบำรุงโบราณสถานที่อยู่ในเขตพื้นที่

3. กำหนดให้กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีอำนาจหน้าที่ในการอนุรักษ์ การคุ้มครอง การรักษา และทำนุบำรุงโบราณสถานนั้น รวมทั้งมีอำนาจห้ามบุคคลเข้าไปในโบราณสถานทั้งหมดหรือบางส่วน จัดหาประโยชน์ และเรียกเก็บค่าเข้าชมจากประชาชน

4. กำหนดให้กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานอย่างร้ายแรง และไม่ดำเนินการแก้ไขหรือดำเนินการตามคำแนะนำของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ให้สั่งระงับการดำเนินการใด ๆ รวมทั้งการจัดหาประโยชน์หรือการอนุญาตให้ประชาชนเข้าชมโบราณสถานนั้น โดยจะมีกำหนดเวลาหรือไม่ก็ได้

5. กำหนดให้มีการออกใบอนุญาตสองกรณี คือ ใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ และห้ามส่งหรือนำโบราณวัตถุไม่ว่าจะได้ประกาศขึ้นทะเบียนแล้วหรือไม่ หรือศิลปวัตถุที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนแล้วออกนอกราชอาณาจักร โดยการกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต การขอรับใบอนุญาต และการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ หากผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาต และเมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือฝ่าฝืน คำสั่งพักใช้ใบอนุญาต ให้อธิบดีสั่งเพิกถอนในอนุญาตนั้น ทั้งนี้ ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

6. กำหนดเกี่ยวกับการส่งหรือนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ หรือชิ้นส่วนของโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากรออกนอกราชอาณาจักร และการนำโบราณวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบ

7. กำหนดให้มีคณะกรรมการโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน กำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ องค์ประชุมของคณะกรรมการและอำนาจหน้าที่

8. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนโบราณคดี เพื่อใช้จ่ายในกิจการอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถาน และโบราณคดี และให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนโบราณคดี ทำหน้าที่และรับผิดชอบในการบริหารจัดการในกิจการของกองทุนโบราณคดี

9. กำหนดให้กองทุนโบราณคดีประกอบด้วย เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมา รายได้ เงินที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งให้ เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนโบราณคดี หรือที่กองทุนโบราณคดีได้รับตามกฎหมายหรือโดยนิติกรรม และดอกผลรายได้ และผลประโยชน์อื่นใดที่เกิดจากเงินและทรัพย์สินของกองทุนโบราณคดี โดยเงินและทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเข้ากองทุนโบราณคดีโดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กันยายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ