1. เห็นชอบร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียและแปซิฟิก ฉบับแก้ไขสุดท้าย ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของฝ่ายไทยและมิใช่การแก้ไขในสาระสำคัญ ให้ ทก. หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรีโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นผู้ลงนามความตกลงฯ ในนามของรัฐบาลไทย
3. มอบหมายให้ กต. พิจารณาจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อลงนามในความตกลงดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 (เรื่อง การทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการระงับกรณีพิพากระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียและแปซิฟิกต่อไป
สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ
1. การเชิญ การเข้าร่วม และการตรวจลงตรา (วีซ่า) การแจ้งเชิญผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิก ITU ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพจะต้องเป็นผู้ลงนามในหนังสือเชิญถึงประเทศต่าง ๆ ส่วนเลขาธิการ ITU จะเป็นผู้แจ้งเชิญผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอื่น ๆ (เช่น ระดับรัฐมนตรี ผู้บริหารจากภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม/ICT) ทั้งนี้ ITU จะเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการลงทะเบียน โดยรัฐบาลจะต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมในการจะออกและให้วีซ่าที่จำเป็นและการอนุญาตให้เข้าเมืองตามที่กำหนดให้แก่ผู้เข้าร่วมและเจ้าหน้าที่ของ ITU ทั้งหมดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
2. เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน รัฐบาลไทยจะต้องให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ITU และผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำฯ ที่ ITU เชิญตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงชำนัญพิเศษ ค.ศ. 1947 ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1956
3. อากรและภาษีขาเข้าและขาออก ITU จะได้รับการยกเว้นอากรและภาษีศุลกากร และข้อห้ามและข้อจำกัดของสิ่งใด ๆ ที่นำเข้าและนำออกโดย ITU เพื่อใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสุดยอดผู้นำฯ รวมถึงรัฐบาลจะต้องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เกี่ยวกับกระบวนการนำเข้าและนำออกด้วย
4. การจัดการทางการเงิน เป็นค่าใช้จ่ายที่ประเทศเจ้าภาพต้องรับผิดชอบ เช่น การใช้จ่ายสำหรับล่ามของ ITU ค่าเดินทาง/ค่าเบี้ยเลี้ยง/ค่าที่พักของเจ้าหน้าที่ ITU และล่าม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นเงินจำนวน 204,000 ฟรังก์สวิส ทั้งนี้ ITU กำหนดให้ประเทศเจ้าภาพโอนเงินจำนวนนี้ให้ ITU ก่อนการจัดงานอย่างน้อย 3 เดือน
5. มาตรการความมั่นคงและการรักษาความปลอดภัย; พิธีการ การเตรียมการ ข้อกำหนด รูปแบบในการรักษาความปลอดภัยทั้งในด้านการเดินทาง สถานที่ และตัวบุคคลสำคัญ การจัดทำแผนรักษาความปลอดภัย การกำหนดผู้ประสานงานหลักในการรักษาความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวก ณ ท่าอากาศยาน
6. สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่จัดหาเอาไว้โดยรัฐบาล ประเทศเจ้าภาพต้องจัดหาสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก การให้บริการ และเจ้าหน้าที่สนับสนุนฝ่ายไทย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกับ ITU นอกจากนี้ ประเทศเจ้าภาพต้องจัดหาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์และบริการเกี่ยวกับระบบสารสนเทศโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
7. การจัดการการเดินทางและการขนส่ง กฎระเบียบและสิทธิของเจ้าหน้าที่ ITU ในการเดินทาง ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นผู้รับผิดชอบค่าออกบัตรโดยสารและการส่งคนออก/ค่าระวางสำหรับอุปกรณ์ วัสดุและเอกสารจากเจนีวาไปยังการประชุมสุดยอดผู้นำและการส่งกลับ
8. การจัดการที่เกี่ยวกับสื่อสัมพันธ์ การแต่งตั้งผู้ประสานงาน การจัดทำประชาสัมพันธ์ และการขนย้ายอุปกรณ์ทางเทคนิคในการประชาสัมพันธ์ โดยรัฐบาลจะต้องไม่แทรกแซงในส่วนของเนื้อหาและการอำนวยความสะดวกทางภาษี และอากรการนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าว
9. การมีผลบังคับใช้และระยะเวลาของข้อตกลงฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ทันทีที่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย (ITU กับรัฐบาลไทย) ลงนามในความตกลงฯ
10. ผู้ลงนาม ผู้ลงนามความตกลงฝ่าย ITU คือ เลขาธิการ ITU โดยฝ่ายไทยจะเสนอเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นผู้ลงนามความตกลง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กันยายน 2556--จบ--