การสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะมนตรีบริหารของประชาคมประชาธิปไตย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 10, 2013 16:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ไทยสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะมนตรีบริหารของ Governing Council (CD) ของประชาคมประชาธิปไตย และอนุมัติในหลักการให้ไทยดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์การเข้าร่วมฯ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะได้พิจารณารายละเอียดในการดำเนินงานที่เหมาะสมต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

สาระสำคัญ

1. ความสำคัญของประชาคมประชาธิปไตย

ประชาคมประชาธิปไตย (CD) เป็นกรอบความร่วมมือด้านประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดกรอบหนึ่งในเวทีระหว่างประเทศ โดยมีสมาชิก 129 ประเทศ และมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการส่งเสริมหลักการและสร้างความแข็งแกร่งในการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งยังมีการรวมกลุ่มเป็น UN Democracy Caucus เพื่อผลักดันประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยในกรอบสหประชาชาติ

2. ความสำคัญของคณะมนตรีบริหารของ CD

2.1 CD ได้ก่อตั้งคณะมนตรีบริหาร (Governing Council) เมื่อปี 2554 เพื่อเป็นกลไกหลักในการตัดสินใจและขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ กิจกรรมและความร่วมมือต่าง ๆ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก CD ที่เข้าร่วมเป้นสมาชิกคณะมนตรีบริหารและ 24 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา เคปเวิร์ด ชิลี คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ ฟินแลนด์ ฮังการี อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น ลิทัวเนีย เม็กซิโก มองโกเลีย โมร็อกโก ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย แอฟริกาใต้ สาธารณรัฐเกาหลี สวีเดน สหรัฐอเมริกา และอุรุกวัย โดยประเทศสมาชิกจากอาเซียนคือ ฟิลิปปินส์

2.2 ประธานของ CD จะได้รับการคัดเลือกจากประเทศสมาชิกคณะมนตรีบริหาร ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดประเด็นหลักที่จะขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือในแต่ละช่วงวาระของการรับตำแหน่ง

3. บทบาทของประเทศไทยในกรอบ CD

3.1 ประเทศไทยสนับสนุนและเข้าร่วมการประชุมของ CD ตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 1 เมื่อปี 2543 ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ โดยส่งผู้แทนระดับสูงมาโดยตลอด ล่าสุดในการประชุมครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 ณ กรุงอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้า คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมในฐานะแขกเกียรติยศของประธานาธิบดีมองโกเลีย และได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงพิธีเปิดการประชุม โดยแสดงความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย บอกเล่าประสบการณ์ของไทยในการพัฒนาประชาธิปไตยในแง่มุมต่าง ๆ ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงความท้าทายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

3.2 ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุม UN Democracy Caucus อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง CD จัดขึ้นทุกปี ในระหว่างการประชุมสมัยสามัญประจำปีของสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก นับตั้งแต่ปี 2547 และล่าสุด เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่ม UN Democracy Caucus ภายใต้หัวข้อ “Democracy and the Rule of Law” ซึ่งมีนาย Elbegdorj Tsakhia ประธานาธิบดีมองโกเลียเป็นประธาน

4. การสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะมนตรีบริหารของ CD

สามารถกระทำได้โดยการยื่นขอสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกต่อคณะมนตรีบริหารชุดปัจจุบัน ซึ่งจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์สำคัญ คือ

(1) เป็นประเทศที่สนับสนุนการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย รวมถึงการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขัดขวางการดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตยตามกฎบัตรสหประชาชาติและแนวทางของปฏิญญาวอร์ซอ (Warsaw Declaration) ซึ่งไทยได้ร่วมให้ปฏิญญาในระหว่างการเข้าร่วมการประชุมของ CD ณ เมืองคราคูฟ ประเทศโปแลนด์ เมื่อปี 2543

(2) เป็นประเทศที่เข้าร่วมการประชุมภายใต้กรอบ UN Democracy Caucus ทั้งที่นครนิวยอร์กและนครเจนีวาอย่างสม่ำเสมอ

(3) มีการแต่งตั้งบุคคลากรอาวุโสจากกระทรวงการต่างประเทศหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นจุดประสานงานหลักของ CD และมีผู้แทนระดับอาวุโสเข้าร่วมในการประชุมของ CD

(4) มีบทบาทในการส่งเสริมกรอบ CD ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การให้เงินอุดหนุนการส่งบุคลากรไปประจำที่สำนักเลขาธิการซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงวอร์ซอ โปแลนด์ หรือการจัดกิจกรรมสนับสนุนคณะทำงานภายใต้กรอบ CD

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กันยายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ