คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการเป็นเจ้าภาพจัดโครงการ Asian Science Camp 2015 ในประเทศไทย พ.ศ. 2558 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
ศธ. รายงานว่า
1. มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิฯ ร่วมกับ ศธ. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จะเป็นเจ้าภาพจัดโครงการ Asian Science Camp 2015 ในประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่ง Asian Science Camp จะจัดเป็นประจำทุกปีโดยประเทศไทยสมาชิกของ International Board of Asian Science Camp (IBASC) จะเวียนเป็นเจ้าภาพ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิก IBASC จึงได้แสดงเจตนารมณ์ขอรับเป็นเจ้าภาพจัด Asian Science Camp ในปี พ.ศ. 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิ สอวน. ในวโรกาสที่จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา และที่ประชุม IBSAC เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพ โดยพิจารณาจากความสำเร็จและประสบการณ์ของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติหลายต่อหลายครั้ง จึงมีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัด Asian Science Camp ในปี พ.ศ. 2558
2. วัตถุประสงค์ของโครงการ มีดังนี้ 1) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิ สอวน. ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา 2) เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีความรู้ ทางภาษาอังกฤษดีเยี่ยมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิทยาศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเป็นการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความรักและความสนใจที่จะศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น 3) เพื่อส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความเข้าใจอันดีระหว่างเยาวชนในภูมิภาคเอเชียให้สามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันในอนาคต 4) เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถด้านปัญญามีความกล้าแสดงออกทั้งในรูปการซักถาม การนำเสนอแนวคิดของตนเองเพื่อสามารถพัฒนาศักยภาพของตนให้สูงขึ้น 5) เพื่อให้นานาประเทศได้รู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้นและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ 1) สามารถจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความรักและความสนใจที่จะศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น 2) สามารถสร้างนักวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศเพิ่มมากขึ้น 3) เยาวชนในภูมิภาคเอเชียสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันสำหรับอนาคต 4) เยาวชนมีความเข้าใจในบทบาทและสถานภาพของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำได้ดีขึ้น 5) เยาวชนมีความกล้าในการแสดงออกทั้งในรูปการซักถามการนำเสนอแนวคิดของตนเอง 6) นานาประเทศได้รู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้นและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 กันยายน 2556--จบ--