คณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งเชิงบูรณาการในระยะยาวและระยะเร่งด่วน ในปี 2548-2549 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายพินิจ จารุสมบัติ) เสนอ แล้วมีมติดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการการจัดให้มีระบบประปาหมู่บ้านให้แก่หมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดให้ครบ 14,580 หมู่บ้าน ภายในปี 2551 โดยให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณาบรรจุโครงการและงบประมาณไว้ในแผนปฏิบัติการภายใต้แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2548-2551
2. สำหรับการขอสนับสนุนเงินกู้เพื่อการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยทำการขุดบ่อหรือสระน้ำโรงงาน และเจาะบ่อบาดาลน้ำลึกเพื่อการเพาะปลูกอ้อย จำนวน 46 โรงงาน ของกระทรวงอุตสาหกรรม วงเงิน 3,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี และข้อเสนอโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากภาวะภัยแล้งของกระทรวงมหาดไทย วงเงินงบประมาณ 177.78 ล้านบาท ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ รับไปพิจารณาในรายะเอียดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
3. ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนนั้นที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2548-2551 ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำ 2 ลุ่มน้ำตัวอย่างแบบบูรณาการ โดยพิจารณารวมข้อเสนอการของบกลางเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง วงเงิน 1,238.38 ล้านบาท ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไว้ด้วย และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 7 มิถุนายน 2548
ทั้งนี้ สภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2547/2548 ในแต่ละปีพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่อาศัยน้ำฝนและน้ำในลำน้ำธรรมชาติเป็นหลัก แต่ในปี 2547/2548 ภัยแล้งมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา พื้นที่ที่อาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเช่นเดียวกันด้วย กล่าวคือ
1. สถานการณ์ปริมาณน้ำกักเก็บเพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงต้นปี 2548 มีจำนวนลดลงอย่างมาก โดยปริมาณน้ำที่เหลือใช้งานได้จริงในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 30 แห่ง ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 มีจำนวน 20,078 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของความจุใช้งานได้ และลดลงเหลือเพียง 12,032 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 27 ของความจุใช้งานได้ ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2548 โดยอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในภาวะวิกฤต ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง และ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของความจุกักเก็บน้ำที่ใช้ได้ โดยเฉพาะอ่างกระเสียวไม่มีปริมาณน้ำเหลือให้ใช้เลย
2. ในช่วงที่เกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุด (วันที่ 21 มีนาคม 2548) มีหมู่บ้านที่ประสบปัญหาภัยแล้งมากถึง 44,519 หมู่บ้าน ใน 71 จังหวัด (ร้อยละ 60 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด) โดยเป็นหมู่บ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 25,745 หมู่บ้าน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของหมู่บ้านประสบภัยแล้งทั่วประเทศ พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายไปแล้ว 11.8 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,900 ล้านบาท โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสียหายมาก ที่สุด รวม 3.4 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่า 2,435 ล้านบาท และสถานการณ์ภัยแล้งได้บรรเทาลง โดยในวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 หมู่บ้านที่ประสบปัญหาภัยแล้งเหลือเป็น 23,871 หมู่บ้าน ใน 63 จังหวัด (ร้อยละ 32 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ)
3. ความเสี่ยงต่อภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในอนาคตคาดว่าจะมีมากขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มของประชากรและกิจกรรมการผลิตทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำนาปรัง ซึ่งมีการใช้น้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำในแต่ละฤดูกาลมากถึงไร่ละ 2,000 ลบ.ม. ขณะที่การก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ เพิ่มเติมโดยเฉพาะขนาดใหญ่มีข้อจำกัดจากลักษณะภูมิประเทศและการต่อต้าน รวมทั้งแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วทั้งที่สร้างขึ้นและตามธรรมชาติยังมีความจุที่ลดลงจากการตื้นเขินและขาดการบำรุงรักษา
การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปี 2547/2548 การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปี 2547/2548 ได้ดำเนินการใน 3 ลักษณะ คือ การทำฝนหลวง การจัดหาน้ำให้แก่พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำโดยตรง และการบริหารการจัดสรรน้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยแล้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำไปแล้ว จนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2548 เป็นวงเงินกว่า 1,512 ล้านบาท การทำฝนหลวง ได้ปฏิบัติการฝนหลวงในจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นกว่า 560 ล้าน ลบ.ม.
การจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้แก่พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำโดยตรง ในส่วนน้ำกินน้ำใช้ ได้ทำการขนส่งน้ำสะอาดไปแจกจ่ายเป็นจำนวน 245,345 เที่ยว ปริมาณน้ำ 2.4 ล้านลิตร ทำการเป่าล้างบ่อบาดาล 11,967 บ่อ ซ่อมถังน้ำ คศล. 942 ถัง ซ่อมประปาหมู่บ้าน 1,639 แห่ง สำหรับน้ำเพื่อการเกษตรได้ทำการขนส่งน้ำ จำนวน 21,646 เที่ยว ปริมาณน้ำ 939.2 ล้านลิตร ใช้เครื่องสูบน้ำ 22,377 เครื่อง สร้างทำนบ/ฝายเก็บกักน้ำ 13,222 แห่ง และขุดลอกแหล่งน้ำ 5,071 แห่ง
การบริหารการจัดสรรน้ำ ได้ทำการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้แก่การอุปโภค บริโภค เป็นอันดับแรก โดยลดปริมาณการส่งน้ำจากเขื่อนต่าง ๆ จำนวนร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำที่เคยส่ง เพื่อให้มีน้ำสำรองไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคและการประปา และขอความร่วมมือเกษตรกรในจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างงดการปลูกข้าวนาปรัง ครั้งที่ 2
แนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงบูรณาการ
ปัญหาภัยแล้งมีโอกาสเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกิดจากเหตุการณ์ธรรมชาติที่ฝนทิ้งช่วง การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องดำเนินการอย่างยั่งยืนซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเดียวกัน ในระยะเร่งด่วนจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นเฉพาะหน้า และเตรียมความพร้อมไว้เพื่อบรรเทาปัญหาและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
1. การแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน เป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำหลักของประเทศ เพื่อประสานการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ดิน ป่าต้นน้ำ และทรัพยากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มี น้ำใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอ พร้อมไปกับการป้องกันอุทกภัยและมลพิษทางน้ำ โดยมีหลักการดำเนินการดังนี้
(1) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน โดยพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งให้ได้มากที่สุด ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างความมั่นคงของน้ำต้นทุนตามธรรมชาติ เพิ่มความชุ่มชื้น และชะลอการไหลหลากของน้ำในฤดูฝนป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดิน เพื่อรักษาหน้าดินและป้องกันการตื้นเขินของลำน้ำและแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมทั้งก่อสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงโดยไม่กระทบต่อระบบนิเวศ
(2) พัฒนาโครงข่ายส่งน้ำและกระจายน้ำให้ทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำและภัยแล้งซ้ำซากโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำอุปโภคบริโภค พื้นที่การผลิตที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงและมีตลาดรองรับลดความสูญเสียน้ำในระบบส่งน้ำ ขุดสระน้ำในไร่นาของเกษตรกร ขุดเจาะน้ำบาดาลและบำรุงรักษา บ่อบาดาลที่มีอยู่
(3) เสริมสร้างให้คนในพื้นที่ลุ่มน้ำเกิดความตระหนักในคุณค่าน้ำ โดยพิจารณาเก็บค่าน้ำเสียรวมไว้ในต้นทุนค่าน้ำดี จัดทำแผนการใช้ที่ดินในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้สอดรับกับศักยภาพของปริมาณน้ำที่มีอยู่ สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีเพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าและการธำรงรักษาน้ำในแหล่งน้ำให้มีคุณภาพดี การปรับเปลี่ยนการปลูกพืช โดยคัดเลือกชนิดและพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพดินและน้ำ การใช้เทคโนโลยีประหยัดน้ำในกิจกรรมการผลิตที่มีการใช้น้ำจำนวนมาก สร้างสิ่งจูงใจให้เกิดค่านิยมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด รวมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลการเตือนภัยแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสีย รวมทั้งไฟป่า ตลอดจนมาตรการและแนวทางปฏิบัติในกรณีฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายของภัยที่จะเกิดขึ้น
2. ในระยะเร่งด่วน จำเป็นต้องจัดการบริหารความเสี่ยงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรและเตรียมความพร้อมรองรับปัญหาภัยแล้งไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง ในระหว่างที่ต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างบูรณาการ โดยมีแนวทางที่ต้องดำเนินการ ดังนี้ (1) แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาดให้หมดไปในระยะเวลา 4 ปี ตามแนวนโยบายของรัฐบาลและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2548-2551 (2) จัดทำฝนเทียมตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ช่วงฝนแล้ง และทำการปรับปรุงแหล่งน้ำที่มีอยู่และแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ทำนบ/ฝาย ลำน้ำ หนองบึง และพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความจุเตรียมพร้อมสำหรับรองรับปริมาณน้ำฝน (3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการภาชนะเก็บกักน้ำ เช่น ถังเก็บน้ำ โอ่ง ในหมู่บ้านที่พบว่าประสบภัยแล้งซ้ำซาก และในหมู่บ้านที่ไม่สามารถจัดสร้างระบบประปาได้ เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำผิวดินและน้ำบาดาล (4) เฝ้าระวังพื้นที่ป่าธรรมชาติและสวนป่าเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่า รวมทั้งจัดทำแนวกันไฟและการชิงเผาล่วงหน้าบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในกรณีที่จำเป็น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ชุดพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร) วันที่ 17 พฤษภาคม 2548--จบ--
1. เห็นชอบในหลักการการจัดให้มีระบบประปาหมู่บ้านให้แก่หมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดให้ครบ 14,580 หมู่บ้าน ภายในปี 2551 โดยให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณาบรรจุโครงการและงบประมาณไว้ในแผนปฏิบัติการภายใต้แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2548-2551
2. สำหรับการขอสนับสนุนเงินกู้เพื่อการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยทำการขุดบ่อหรือสระน้ำโรงงาน และเจาะบ่อบาดาลน้ำลึกเพื่อการเพาะปลูกอ้อย จำนวน 46 โรงงาน ของกระทรวงอุตสาหกรรม วงเงิน 3,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี และข้อเสนอโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากภาวะภัยแล้งของกระทรวงมหาดไทย วงเงินงบประมาณ 177.78 ล้านบาท ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ รับไปพิจารณาในรายะเอียดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
3. ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนนั้นที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2548-2551 ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำ 2 ลุ่มน้ำตัวอย่างแบบบูรณาการ โดยพิจารณารวมข้อเสนอการของบกลางเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง วงเงิน 1,238.38 ล้านบาท ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไว้ด้วย และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 7 มิถุนายน 2548
ทั้งนี้ สภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2547/2548 ในแต่ละปีพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่อาศัยน้ำฝนและน้ำในลำน้ำธรรมชาติเป็นหลัก แต่ในปี 2547/2548 ภัยแล้งมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา พื้นที่ที่อาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเช่นเดียวกันด้วย กล่าวคือ
1. สถานการณ์ปริมาณน้ำกักเก็บเพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงต้นปี 2548 มีจำนวนลดลงอย่างมาก โดยปริมาณน้ำที่เหลือใช้งานได้จริงในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 30 แห่ง ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 มีจำนวน 20,078 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของความจุใช้งานได้ และลดลงเหลือเพียง 12,032 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 27 ของความจุใช้งานได้ ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2548 โดยอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในภาวะวิกฤต ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง และ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของความจุกักเก็บน้ำที่ใช้ได้ โดยเฉพาะอ่างกระเสียวไม่มีปริมาณน้ำเหลือให้ใช้เลย
2. ในช่วงที่เกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุด (วันที่ 21 มีนาคม 2548) มีหมู่บ้านที่ประสบปัญหาภัยแล้งมากถึง 44,519 หมู่บ้าน ใน 71 จังหวัด (ร้อยละ 60 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด) โดยเป็นหมู่บ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 25,745 หมู่บ้าน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของหมู่บ้านประสบภัยแล้งทั่วประเทศ พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายไปแล้ว 11.8 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,900 ล้านบาท โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสียหายมาก ที่สุด รวม 3.4 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่า 2,435 ล้านบาท และสถานการณ์ภัยแล้งได้บรรเทาลง โดยในวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 หมู่บ้านที่ประสบปัญหาภัยแล้งเหลือเป็น 23,871 หมู่บ้าน ใน 63 จังหวัด (ร้อยละ 32 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ)
3. ความเสี่ยงต่อภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในอนาคตคาดว่าจะมีมากขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มของประชากรและกิจกรรมการผลิตทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำนาปรัง ซึ่งมีการใช้น้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำในแต่ละฤดูกาลมากถึงไร่ละ 2,000 ลบ.ม. ขณะที่การก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ เพิ่มเติมโดยเฉพาะขนาดใหญ่มีข้อจำกัดจากลักษณะภูมิประเทศและการต่อต้าน รวมทั้งแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วทั้งที่สร้างขึ้นและตามธรรมชาติยังมีความจุที่ลดลงจากการตื้นเขินและขาดการบำรุงรักษา
การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปี 2547/2548 การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปี 2547/2548 ได้ดำเนินการใน 3 ลักษณะ คือ การทำฝนหลวง การจัดหาน้ำให้แก่พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำโดยตรง และการบริหารการจัดสรรน้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยแล้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำไปแล้ว จนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2548 เป็นวงเงินกว่า 1,512 ล้านบาท การทำฝนหลวง ได้ปฏิบัติการฝนหลวงในจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นกว่า 560 ล้าน ลบ.ม.
การจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้แก่พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำโดยตรง ในส่วนน้ำกินน้ำใช้ ได้ทำการขนส่งน้ำสะอาดไปแจกจ่ายเป็นจำนวน 245,345 เที่ยว ปริมาณน้ำ 2.4 ล้านลิตร ทำการเป่าล้างบ่อบาดาล 11,967 บ่อ ซ่อมถังน้ำ คศล. 942 ถัง ซ่อมประปาหมู่บ้าน 1,639 แห่ง สำหรับน้ำเพื่อการเกษตรได้ทำการขนส่งน้ำ จำนวน 21,646 เที่ยว ปริมาณน้ำ 939.2 ล้านลิตร ใช้เครื่องสูบน้ำ 22,377 เครื่อง สร้างทำนบ/ฝายเก็บกักน้ำ 13,222 แห่ง และขุดลอกแหล่งน้ำ 5,071 แห่ง
การบริหารการจัดสรรน้ำ ได้ทำการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้แก่การอุปโภค บริโภค เป็นอันดับแรก โดยลดปริมาณการส่งน้ำจากเขื่อนต่าง ๆ จำนวนร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำที่เคยส่ง เพื่อให้มีน้ำสำรองไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคและการประปา และขอความร่วมมือเกษตรกรในจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างงดการปลูกข้าวนาปรัง ครั้งที่ 2
แนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงบูรณาการ
ปัญหาภัยแล้งมีโอกาสเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกิดจากเหตุการณ์ธรรมชาติที่ฝนทิ้งช่วง การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องดำเนินการอย่างยั่งยืนซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเดียวกัน ในระยะเร่งด่วนจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นเฉพาะหน้า และเตรียมความพร้อมไว้เพื่อบรรเทาปัญหาและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
1. การแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน เป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำหลักของประเทศ เพื่อประสานการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ดิน ป่าต้นน้ำ และทรัพยากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มี น้ำใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอ พร้อมไปกับการป้องกันอุทกภัยและมลพิษทางน้ำ โดยมีหลักการดำเนินการดังนี้
(1) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน โดยพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งให้ได้มากที่สุด ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างความมั่นคงของน้ำต้นทุนตามธรรมชาติ เพิ่มความชุ่มชื้น และชะลอการไหลหลากของน้ำในฤดูฝนป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดิน เพื่อรักษาหน้าดินและป้องกันการตื้นเขินของลำน้ำและแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมทั้งก่อสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงโดยไม่กระทบต่อระบบนิเวศ
(2) พัฒนาโครงข่ายส่งน้ำและกระจายน้ำให้ทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำและภัยแล้งซ้ำซากโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำอุปโภคบริโภค พื้นที่การผลิตที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงและมีตลาดรองรับลดความสูญเสียน้ำในระบบส่งน้ำ ขุดสระน้ำในไร่นาของเกษตรกร ขุดเจาะน้ำบาดาลและบำรุงรักษา บ่อบาดาลที่มีอยู่
(3) เสริมสร้างให้คนในพื้นที่ลุ่มน้ำเกิดความตระหนักในคุณค่าน้ำ โดยพิจารณาเก็บค่าน้ำเสียรวมไว้ในต้นทุนค่าน้ำดี จัดทำแผนการใช้ที่ดินในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้สอดรับกับศักยภาพของปริมาณน้ำที่มีอยู่ สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีเพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าและการธำรงรักษาน้ำในแหล่งน้ำให้มีคุณภาพดี การปรับเปลี่ยนการปลูกพืช โดยคัดเลือกชนิดและพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพดินและน้ำ การใช้เทคโนโลยีประหยัดน้ำในกิจกรรมการผลิตที่มีการใช้น้ำจำนวนมาก สร้างสิ่งจูงใจให้เกิดค่านิยมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด รวมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลการเตือนภัยแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสีย รวมทั้งไฟป่า ตลอดจนมาตรการและแนวทางปฏิบัติในกรณีฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายของภัยที่จะเกิดขึ้น
2. ในระยะเร่งด่วน จำเป็นต้องจัดการบริหารความเสี่ยงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรและเตรียมความพร้อมรองรับปัญหาภัยแล้งไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง ในระหว่างที่ต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างบูรณาการ โดยมีแนวทางที่ต้องดำเนินการ ดังนี้ (1) แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาดให้หมดไปในระยะเวลา 4 ปี ตามแนวนโยบายของรัฐบาลและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2548-2551 (2) จัดทำฝนเทียมตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ช่วงฝนแล้ง และทำการปรับปรุงแหล่งน้ำที่มีอยู่และแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ทำนบ/ฝาย ลำน้ำ หนองบึง และพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความจุเตรียมพร้อมสำหรับรองรับปริมาณน้ำฝน (3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการภาชนะเก็บกักน้ำ เช่น ถังเก็บน้ำ โอ่ง ในหมู่บ้านที่พบว่าประสบภัยแล้งซ้ำซาก และในหมู่บ้านที่ไม่สามารถจัดสร้างระบบประปาได้ เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำผิวดินและน้ำบาดาล (4) เฝ้าระวังพื้นที่ป่าธรรมชาติและสวนป่าเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่า รวมทั้งจัดทำแนวกันไฟและการชิงเผาล่วงหน้าบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในกรณีที่จำเป็น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ชุดพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร) วันที่ 17 พฤษภาคม 2548--จบ--