คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย) ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2556 วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ประธานกรรมการเสนอ ที่มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ไปประกอบการตรวจพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ดังนี้
1. เพิ่มบทนิยามคำว่า “สมุดประจำตัว” “การประเมิน” “ผู้ประเมิน” “การรับรองความสามารถ” “หนังสือรับรองความสามารถ” และ “องค์กรอาชีพ”
2. เพิ่มเติมอำนาจของรัฐมนตรีในกำหนดสาขาอาชีพหรือตำแหน่งงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะ
3. กำหนดห้ามมิให้ผู้ดำเนินการฝึกเรียกหรือรับเงินค่าฝึกอบรมหรือค่าตอบแทนในลักษณะใด ๆ อันเกี่ยวกับการฝึกอบรมฝีมือแรงงานจากผู้รับการฝึกซึ่งเป็นลูกจ้างของตน
4. กำหนดให้มีระบบบันทึกข้อมูลในสมุดประจำตัว กำหนดให้การประกอบอาชีพซึ่งเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ความรู้ความชำนาญเฉพาะ ต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความสามารถ กำหนดให้มีศูนย์ประเมินความสามารถกลางและศูนย์ประเมินความสามารถเฉพาะด้านทำหน้าที่ประเมินและออกหนังสือรับรองความสามารถ ตลอดจนมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และค่าบริการ
5. กำหนดให้ค่าธรรมเนียมหรือค่าทดสอบที่จัดเก็บได้ตกเป็นของกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน และเพิ่มเติมกรอบการใช้จ่ายของกองทุนเพื่อให้สามารถนำเงินกองทุนไปช่วยเหลือหรืออุดหนุนกิจการ ที่เกี่ยวกับการรับรองความสามารถขององค์กรอาชีพหรือศูนย์ประเมินความสามารถเฉพาะด้าน
6. กำหนดให้ผู้ซึ่งจัดให้ลูกจ้างเข้ารับการทดสอบและผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติครบตามสัดส่วนที่กำหนด ไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพิ่มเติมกระบวนการประเมินเงินสมทบหรือเงินเพิ่ม และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินเงินสมทบ
7. เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ของสถานประกอบกิจการที่มีการจ้างงานผู้ได้รับหนังสือรับรองความสามารถ
8. ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
9. เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนในการรับรองความสามารถและการควบคุมและการกำกับดูแลการทำหน้าที่ของศูนย์ประเมินความสามารถเฉพาะด้านหรือผู้ประเมิน
10. กำหนดให้ศูนย์ประเมินความสามารถเฉพาะด้านหรือผู้ประเมินที่ได้รับคำสั่งให้หยุดหรือเพิกถอนหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความเฉพาะด้าน หรือเพิกถอนหนังสือรับรองการเป็นผู้ประเมินมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการ
11. กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้นายทะเบียนมีอำนาจเปรียบเทียบความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
12. กำหนดบทเฉพาะกาลให้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ตุลาคม 2556--จบ--