ที่ลาดกระบังของการรถไฟแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดำเนินโครงการสรรหาเอกชนเพื่อรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการไอซีดี โดยมอบหมายให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เป็นผู้พิจารณาในรายละเอียดอย่างชัดเจนและครบถ้วน ภายใต้หลักการของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. โครงการไอซีดี ลาดกระบัง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครบนพื้นที่ 647-2-18.5 ไร่ โดยมีระยะทางจากใจกลางของกรุงเทพมหานครประมาณ 30 กิโลเมตร บริเวณใกล้เคียงมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ เป็นต้น และอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง 118 กิโลเมตร มีโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงสามารถใช้ได้ทั้งการขนส่งทางถนนและการขนส่งทางรถไฟ การเดินทางเข้า-ออกจากไอซีดี ลาดกระบัง ทางถนนสามารถใช้ถนนเจ้าคุณทหาร ถนนร่มเกล้า ถนนฉลองกรุง และทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ได้สะดวก ปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟระหว่างไอซีดี ลาดกระบัง — ท่าเรือแหลมฉบัง ขนส่งวันละ 28 ขบวน (เที่ยวไป 14 ขบวน และเที่ยวกลับ 14 ขบวน) สามารถบรรทุกตู้สินค้าได้ขบวนละ 30 โบกี้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 60 ตู้ขนาด 20 ฟุต และสามารถเพิ่มปริมาณขนส่งตู้ทางรถไฟขึ้นได้ถึงวันละ 36 ขบวน นอกจากนี้ ทางรถไฟในช่วงฉะเชิงเทรา — ศรีราชา — แหลมฉบัง ได้ก่อสร้างเป็นทางคู่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 จึงทำให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการขนส่งทางรถไฟระหว่างไอซีดี ลาดกระบัง — ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ถึงวันละ 48 ขบวน ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย แผนยุทธศาสตร์ คค. และแผนยุทธศาสตร์การสร้างรากฐานการผลิตที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
2. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการสรรหาผู้ประกอบการเพื่อรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการไอซีดีที่ลาดกระบังในปี 2539 และ 2540 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 โดยวิธีการประมูลอัตราค่าธรรมเนียมสัมปทาน ได้ผู้ประกอบการ จำนวน 6 ราย ดังนี้ 1) สถานี A บริษัท สยามชอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด (SSS) 2) สถานี B บริษัท อิสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ESCO) 3) สถานี C บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด (ECTT) 4) สถานี D บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด (TIFFA) 5) สถานี E บริษัท ไทยฮันจินโลจิสติกส์ จำกัด (THL) 6) สถานี F บริษัท เอ็น.วาย.เค.ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด (NICD) โดยมีอายุสัญญาสัมปทาน 10 ปี เริ่มตั้งแต่ ปี 2539 ถึงปี 2549 ต่อมาภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานได้มีการต่ออายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 5 ปี ตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2549 สิ้นสุดวันที่ 5 มีนาคม 2554 การต่ออายุสัญญาสัมปทานได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 กันยาน 2552 และ รฟท. ได้จัดทำสัญญาสัมปทานกับผู้ประกอบการฉบับลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 เนื่องจากเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาสัมปทานฯ ไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการต่ออายุสัญญาสัมปทานเช่นเดียวกับฉบับแรก ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 5 มีนาคม 2554 รฟท. จึงต้องดำเนินการสรรหาผู้ประกอบการรายใหม่เพื่อเข้ามาดำเนินงานไอซีดี ที่ลาดกระบัง ต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ตุลาคม 2556--จบ--