การใช้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในบันทึกความเข้าใจฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 2, 2013 07:07 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การใช้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในบันทึกความเข้าใจ เรื่อง Memorandum of Understanding

for Collaboration in the Deployment and Exploitation of the Worldwide

LHC Computing Grid (เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาและใช้งาน)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการใช้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในบันทึกความเข้าใจเรื่อง Memorandum of Understanding for Collaboration in the Deployment and Exploitation of the Worldwide LHC Computing Grid (เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาและใช้งาน) ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

วท. รายงานว่า

1. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้เป็นการลงนามระหว่าง CERN ในฐานะ “ห้องปฏิบัติการเจ้าภาพ” (Host Laboratory) ในการดำเนินงานของเครือข่าย WLCG ฝ่ายหนึ่งกับ สวทช. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในนามของภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science (National e-Science Infrastructure Consortium) ของประเทศไทย ในฐานะ “ผู้ให้บริการ” อีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีระยะเวลาความร่วมมือในเบื้องต้นคือ จากวันที่ลงนามจนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 และขยายระยะเวลาความร่วมมือโดยอัตโนมัติครั้งละ 5 ปี จนสิ้นสุดการดำเนินงานของเครื่องเร่งอนุภาค LHC โดยที่หน่วยงานของประเทศไทยในฐานะผู้ให้บริการจะทำหน้าที่ในการให้บริการระบบจัดเก็บและให้บริการข้อมูล รวมทั้งหน่วยประมวลผลแก่เครือข่าย WLCG ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ แนวทางในการระงับข้อพิพาทคือการเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาทในคณะกรรมการ WLCG Collaboration Board (CB) ในขั้นแรก ทั้งนี้ หากไม่สามารถหาข้อยุติในคณะกรรมการ CB ได้ จะต้องนำข้อพิพาทไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ Computing Resource Review Board (C-RRB) (โดยประเทศไทยจะมีผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการใน CB และ C-RRB จำนวน 3 คน และ 1 คน ตามลำดับ) และหากยังไม่เป็นผลให้หาข้อยุติโดยผ่านทาง President of CERN Council ซึ่งจะพิจารณาโดยการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในข้อ 12.1 ของร่างบันทึกความเข้าใจฯ

2. บันทึกความเข้าใจดังกล่าวมิได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายต่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ตุลาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ