คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น
2. กำหนดวัตถุประสงค์ ภาระหน้าที่ การแบ่งส่วนงาน หลักเกณฑ์การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกส่วนงาน การรับสถานศึกษาอื่นเข้าสมทบ และอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
3. กำหนดให้มหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ฯลฯ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้รับการคุ้มครองและประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะประกันตนด้วยความสมัครใจ
4. กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีรายได้ส่วนหนึ่งจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และเงินกองทุนที่รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นและรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุน รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และให้อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมีผู้อุทิศให้หรือได้จากการซื้อหรือแลกเปลี่ยนไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุและให้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย และในกรณีที่รัฐบาลปรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดให้แก่ข้าราชการ ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปเพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยในสัดส่วนเดียวกัน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยด้วย
5. กำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ที่มหาวิทยาลัยรับเข้าศึกษาให้มหาวิทยาลัย และนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริงให้มีโอกาสเรียนจนสำเร็จปริญญาตรีโดยให้เป็นไปตามระเบียบที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
6. กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการซึ่งเลือกจากกรรมการสภาวิชาการและพนักงานมหาวิทยาลัยตามที่กำหนด กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการอุดมศึกษา กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย และให้มีสำนักงานสภามหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
7. กำหนดให้มีสภาวิชาการ สภาคณาจารย์ คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย คณะกรรมการบริหารงานบุคคล และคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ โดยให้องค์ประกอบ ที่มาของกรรมการ อำนาจหน้าที่เป็นไปตามที่กำหนด และให้จำนวนคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนการประชุมเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
8. กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
9. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
10. กำหนดหลักเกณฑ์ ระบบบัญชี การตรวจสอบทางบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัย ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของอธิการบดี และให้อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี หัวหน้าและรองหัวหน้าส่วนงานตามที่กำหนด เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย
11. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณและรายได้ การดำรงตำแหน่ง และคณะกรรมการต่าง ๆ ส่วนราชการ การโอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานของมหาวิทยาลัย ตำแหน่งทางวิชาการ ตลอดจนระเบียบข้อบังคับ หรือประกาศที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นต้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ตุลาคม 2556--จบ--