คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. เสนอว่า เพื่อเป็นการรองรับด่านศุลกากรแห่งใหม่ ณ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) และเพื่อให้กฎกระทรวงกำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และ ด่านศุลกากรฯ ครอบคลุมบริเวณที่มีการปฏิบัติพิธีการศุลกากรในปัจจุบัน จึงเห็นควรออกกฎกระทรวงฯ กำหนดเพิ่มเขตศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน ของด่านศุลกากรเชียงของและด่านศุลกากรบึงกาฬ โดยแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร พ.ศ. 2553 ด้วยเหตุผล ดังนี้
1. ด่านศุลกากรเชียงของ
ตามที่รัฐบาลได้มีโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมพรมแดนระหว่างราชอาณาจักรไทย และ สปป. ลาว ณ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับโครงการดังกล่าว จึงสมควรกำหนดให้ด่านศุลกากรเชียงของเป็นท่าหรือที่สำหรับนำของเข้าหรือส่งของออก หรือสำหรับส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้า หรือของที่มีทัณฑ์บน ประกอบกับกรมทางหลวงยังมิได้ส่งมอบพื้นที่ในการจัดสร้างที่ทำการด่านศุลกากรเชียงของแห่งใหม่ ณ บริเวณโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) จังหวัดเชียงราย ให้แก่กรมศุลกากร จึงมีความจำเป็นต้องใช้ที่ทำการปัจจุบันในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรในระหว่างที่ทำการด่านศุลกากรแห่งใหม่ยังไม่อาจทำการก่อสร้างและเปิดใช้งานได้ เพื่อเป็นการจัดระเบียบและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการนำของเข้า การส่งของออก และการส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้าหรือของที่มีทัณฑ์บน ประกอบกับเพื่อเป็นประโยชน์ในด้าน Logistics and Supply Chain อันเป็นการรองรับเส้นทาง R3A ตามกรอบการดำเนินโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-Regional Economic Cooperation) และเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงเห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดนและด่านศุลกากร พ.ศ. 2553 โดยแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
1.1 “ด่านศุลกากร” เห็นควรใช้ที่ทำการปัจจุบันในระหว่างที่ทำการด่านศุลกากรแห่งใหม่ยังไม่อาจเปิดใช้งานได้ ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ 66 หมู่ที่ 2 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
1.2 “เขตศุลกากร” เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมจากเดิม อีก 1 จุด โดยกำหนดให้บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ในฝั่งไทย เป็น “เขตศุลกากร” เพิ่มเติมจากกฎกระทรวงฯ ฉบับปัจจุบัน
1.3 กำหนด “ด่านพรมแดน” เพิ่มเติมในร่างกฎกระทรวงฯ รวมเป็น 4 จุด ได้แก่ (1) ท่าเรือบั๊ค (2) ท่าเรือเชียงของ (3) ท่าเรือผาถ่าน (4) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย)
1.4 กำหนด “ทางอนุมัติ” เพิ่มเติมในร่างกฎกระทรวงฯ รวมเป็น 4 จุด (1) ทางถนนจากท่าเรือบั๊ค ไปตามถนนลงท่าเรือบั๊ค จนบรรจบถนนสายกลางเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายกลางผ่านวัดพระแก้ว และวัดหลวงจนบรรจบถนนเทศบาล ซอย 5 เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเทศบาล ซอย 5 ถึงด่านศุลกากรเชียงของ (2) ทางถนนจากท่าเรือเชียงของไปตามถนนลงท่าเรือเชียงของ จนบรรจบถนนสายกลาง เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายกลางผ่านวัดพระแก้วและวัดหลวง จนบรรจบถนนเทศบาล ซอย 5 เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเทศบาล ซอย 5 ถึงด่านศุลกากรเชียงของ (3) ทางถนน จากท่าเรือผาถ่าน ไปตามถนนลงท่าเรือผาถ่าน (ถนนเทศบาล ซอย 5 และถนนเทศบาล ซอย 7) ถึงด่านศุลกากรเชียงของ (4) ทางถนนจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ในฝั่งไทยไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1356 จนบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1020 เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงแผ่นดินเลขที่ 1020 ผ่านวัดเวียงดอนไชย (ศรีดอนไชย) จนบรรจบถนนเทศบาล ซอย 5 เลี้ยวขวาไปตามถนนเทศบาล ซอย 5 ถึงด่านศุลกากรเชียงของ
2. ด่านศุลกากรบึงกาฬ
เนื่องจากที่ทำการด่านศุลกากรบึงกาฬปัจจุบันตามกฎกระทรวงกำหนดท่าหรือที่ สนามบิน ศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร พ.ศ. 2553 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555 ตั้งอยู่บริเวณท่าแพขนานยนต์ เลขที่ 125 หมู่ที่ 2 ถนนบึงกาฬ-พันลำ ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีการใช้บริเวณหน้าด่านศุลกากรเก่า ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 90 หมู่ที่ 2 ถนนบึงกาฬ-พันลำ ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ หรือท่าเรือโดยสารระหว่างอำเภอเมืองบึงกาฬ-เมืองปากซัน เป็นจุดผ่านแดนถาวรระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (อำเภอเมืองบึงกาฬ-เมืองปากซัน) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2535 เนื่องจากท่าเรือโดยสารที่ด่านศุลกากรเก่าตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองบึงกาฬมากกว่าท่าแพขนานยนต์ จึงมีความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการในการข้ามแดนมากกว่า และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการใช้บริการข้ามแดน และเพื่อให้การบริการและการควบคุมทางศุลกากรครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนอีกทั้งเป็นการเตรียมความความพร้อมรองรับ AEC จึงเห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร พ.ศ. 2553 ดังนี้
2.1 กำหนด “ด่านพรมแดนท่าเรือบึงกาฬ” บริเวณท่าเทียบเรือโดยสาร (หน้าด่านศุลกากรเก่า) ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 90 หมู่ที่ 2 ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
2.2 กำหนด “ทางอนุมัติ” จากด่านพรมแดนท่าเรือบึงกาฬไปตามถนนสาธารณประโยชน์หน้าด่านเก่าเลี้ยวขวาไปตามถนนสายบึงกาฬ-พันลำ ถึงด่านศุลกากรบึงกาฬ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เป็นการกำหนดท่าหรือที่ เขตศุลกากร ลักษณะการที่ให้กระทำ ทางอนุมัติ ด่านพรมแดนของด่านศุลกากรเชียงของและด่านศุลกากรบึงกาฬ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ตุลาคม 2556--จบ--