ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 8, 2013 17:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 4 ได้บัญญัติบทนิยามคำว่า “ วิชาชีพเภสัชกรรม” หมายความว่า วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุงและจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ รวมทั้งดำเนินการปรุงยาและการขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา นั้น ไม่สอดคล้องกับภารกิจที่เภสัชกรปฏิบัติ นอกจากนั้นพระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่ได้มีการกำหนดเรื่องอายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมไว้ด้วย ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้สภาเภสัชกรรมมีเครื่องมือเพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ประกอบวิชาชีพ เภสัชกรรมมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในการให้บริการด้านวิชาชีพแก่ประชาชนและเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้สภาเภสัชกรรมปรับปรุงข้อมูลของสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “วิชาชีพเภสัชกรรม” และเพิ่มเติมการกำหนดอายุของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ๆ ให้สอดคล้องกัน

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “วิชาชีพเภสัชกรรม” ให้มีความหมายครอบคลุมถึงการปรุงและ จ่ายยาตามใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่น ๆ

2. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมในการออกข้อบังคับสภาเภสัชกรรม เรื่องการต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต

3. แก้ไขเพิ่มเติมให้มีการต่ออายุใบอนุญาต โดยกำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

4. เพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต

5. กำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อรองรับสิทธิประโยชน์ที่มีตามกฎหมายเดิมโดยกำหนดให้ใบอนุญาตที่มีอยู่เดิมใช้บังคับต่อไปได้อีก 5 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ตุลาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ