ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ. 2557-2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 8, 2013 17:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ. 2557-2559 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ต่อไป

สาระสำคัญของทิศทางยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 2 ทิศทาง ได้แก่

1. ทิศทางยุทธศาสตร์ “นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง” ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : เร่งรัดขยายการดำเนินงานการป้องกันที่รอบด้าน ด้วยชุดบริการที่ได้มาตรฐานบนฐานของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและมีความละเอียดอ่อนเรื่องเพศภาวะและเพศวิถี ให้ครอบคลุมประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และคาดว่าจะมีจำนวนการติดเชื้อฯ รายใหม่มากที่สุด

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : เร่งรัดขยายการดำเนินงานให้การปกป้องทางสังคมและปรับเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมทางกฎหมายที่มีความสำคัญต่อการป้องกันและการดูแลรักษา

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : เพิ่มความร่วมรับผิดชอบและเป็นเจ้าของร่วมในระดับประเทศ จังหวัดและท้องถิ่น ในการขยายการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ของประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : พัฒนาระบบข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในทุกระดับ

2. ทิศทางยุทธศาสตร์ “การผสมผสานและบูรณาการให้มาตรการและแผนงานปัจจุบันมีคุณภาพ เข้มข้นและมีความยั่งยืน” ประกอบด้วย 1 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ 5 : ยกระดับคุณภาพมาตรการและแผนงานที่มีอยู่เดิมให้เข้มข้นและบูรณาการในแผนงานต่าง ๆ ประกอบด้วย

(1) การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเมื่อแรกเกิด (มี 2 วัตถุประสงค์ และ 3 มาตรการ)

(2) การป้องกันการติดเชื่อเอชไอวีในกลุ่มเด็กและเยาวชน (มี 3 วัตถุประสงค์ และ 4 มาตรการ)

(3) การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามันแบบบูรณาการ (มี 1 วัตถุประสงค์ และ 3 มาตรการ)

(4) การบริการโลหิตปลอดภัย (มี 2 วัตถุประสงค์และ 3 มาตรการ)

(5) การรักษา การดูแล และการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (มี 2 วัตถุประสงค์ และ 4 มาตรการ)

(6) การดูแลและช่วยเหลือเด็กได้รับผลกระทบจากเอดส์ (มี 1 วัตถุประสงค์ และ 3 มาตรการ)

(7) การลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ (มี 2 วัตถุประสบค์ และ 4 มาตรการ)

(8) การสื่อสารสาธารณะ (มี 1 วัตถุประสงค์ และ 2 มาตรการ)

การบริหารยุทธศาสตร์ ฯ มีกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้งระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาคผ่านคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ที่จะทำหน้าที่ในการผลักดัน สนับสนุน และกำกับทิศทางการให้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์บรรลุสู่เป้าหมายที่กำหนด ภายใต้หลักการสร้างความเป็นธรรมในสังคมโดยการเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิที่พึงมีพึงได้รับ และมีความเท่าเทียมทางเพศ ประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยการทำงานเอดส์ในมิติใหม่ที่ก้าวข้ามจากการเป็นโรคและความเจ็บป่วยไปสู่การส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งเน้นเป้าหมานที่ชัดเจน ด้วยประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีการติดตามการทำงานร่วมกันของภาคีทุกภาคส่วน และการสร้างภาวะผู้นำและการเป็นเจ้าของ ด้วยการร่วมกันกำหนดทิศทางการทำงานเอดส์ การจัดหาทรัพยากรเพียงพอ ต่อเนื่องและยั่งยืน ตลอดจนการเสริมสร้างพลัง และภาคีการทำงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์จัดโครงสร้างการบริหารยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ษ. 2557-2559 ด้วยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในระดับประเทศและคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในระดับจังหวัดและ กทม. และเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ จะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการและการบูรณาการการทำงานที่มีเป้าหมายร่วมกัน (Joint KPls) พร้อมกับจัดทำแผนพัฒนาระบบข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์และการติดตามประเมินผลระดับประเทศ และการประมาณการค่าใช้จ่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ของประเทศ เพื่อใช้เป็นฐานในการระดมทรัพยากรให้เพียงพอต่อการดำเนินงานที่จะสนับสนุนการดำเนินงานทั้งโดยภาครัฐและภาคประชาสังคม และมีความต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายรวมถึงการยุติปัญหาเอดส์ในระยะต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ตุลาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ