การรายงานผลการดำเนินงานมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 8, 2013 17:37 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การรายงานผลการดำเนินงานมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557

มาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2556/57 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57

ตามมติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 มาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2556/57 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ตามมติคณะรัฐมนตรี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ

สาระสำคัญของผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 23 กันยายน 2556 ของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่ในการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร ประชาคม และออกใบรับรองให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าว ในปี 2556/57 มีดังนี้

1. ยางพารา

1.1 เกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 575,241 ครัวเรือน

1.2 รับขึ้นทะเบียนและบันทึกในระบบสารสนเทศเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราแล้ว จำนวน 216,413 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 3,141,572 ไร่ พื้นที่เปิดกรีด 2,536,380 ไร่

1.3 ส่งรายชื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดระดับตำบลดำเนินการแล้ว จำนวน 3,792 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 43,767 ไร่ พื้นที่เปิดกรีด 38,435 ไร่

2. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

2.1 เกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 135,849 ครัวเรือน พื้นที่ 2,425,810 ไร่ ผลผลิต 1,735,427 ตัน

2.2 เกษตรกรผ่านประชาคม จำนวน 28,584 ครัวเรือน พื้นที่ 583,073 ไร่ ผลผลิต 404,530 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 21.04 ของจำนวนครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียน)

2.3 ออกใบรับรอง 23,038 ครัวเรือน พื้นที่ 441,827 ไร่ ผลผลิต 306,332 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 80.60 ของจำนวนครัวเรือนที่ผ่านการประชาคม)

3. ข้าว

3.1 เกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 2,343,824 ครัวเรือน พื้นที่ 41,899,080 ไร่ ผลผลิต 17,854,708 ตัน

3.2 เกษตรกรผ่านประชาคม จำนวน 38,799 ครัวเรือน พื้นที่ 853,333 ไร่ ผลผลิต 483,086 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 1.66 ของจำนวนครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียน)

3.3 ออกใบรับรอง 19,289 ครัวเรือน พื้นที่ 398,139 ไร่ ผลผลิต 239,073 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 49.72 ของจำนวนครัวเรือนที่ผ่านการประชาคม)

ปัญหาและอุปสรรค

1. การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราตามโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ

1.1 เกษตรกรที่เพาะปลูกยางพารายังขาดความเข้าใจ ในเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากในการรับขึ้นทะเบียนครั้งแรกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ให้สิทธิ์เฉพาะเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินเท่านั้น ทำให้ในระยะแรกของการประกาศรับขึ้นทะเบียน เกษตรกรบางส่วนไม่สามารถใช้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการได้ และไม่มาขอขึ้นทะเบียน

1.2 เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีการแยกครัวเรือน เพื่อรับสิทธิ์จากการเข้าร่วมโครงการ ทำให้จำนวนเกษตรกรและพื้นที่ที่จะได้รับสิทธิ์เข้ารับการช่วยเหลือมีจำนวนมากขึ้น อาจส่งผลต่อวงเงินช่วยเหลือเกษตรกร ที่อาจจะสูงกว่าที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

1.3 การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทำการบันทึกเลขที่บัญชี ธ.ก.ส. เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงนั้น อาจเกิดความผิดพลาดในการบันทึกได้ เนื่องจากระบบการบันทึกข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่มีระบบตรวจสอบความถูกต้องของเลขที่บัญชี ซึ่งอาจส่งผลให้การโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรมีความผิดพลาด หรือล่าช้าได้

2. การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าว ตามมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าว ปีการผลิต 2556/57 ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จะไม่สามารถมาขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการของรัฐบาลในปีนี้ได้ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 อาจเกิดปัญหาการร้องเรียนของเกษตรกรในส่วนที่เสียผลประโยชน์ได้

แนวทางแก้ไข

1. การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราตามโครงสร้างแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ

1.1 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ขยายขอบเขตการได้รับสิทธิ์ให้กับเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่เอกสารสิทธิ์ และพื้นที่ครอบครองหรือราชการให้ใช้ประโยชน์ 46 รายการ ตามหนังสือกรมป้าไม้ ที่ ทส 1602.5/5527 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2555

1.2 กรณีมีข้อสงสัยในเรื่องการใช้สิทธิ์ในที่ดินประเภทต่าง ๆ ให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบระดับจังหวัด

1.3 กรณีเกษตรกรที่มีการปลูกยางพาราในพื้นที่นอกเหนือเอกสารทั้ง 46 รายการของกรมป่าไม้ สำหรับพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชดูแลเนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้คณะอนุกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ปลูกยางพารา มีมติเห็นควรให้กรมส่งเสริมการเกษตรรวบรวมรายชื่อแจ้งหน่วยงานทั้งสอง (กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) ตรวจสอบต่อไป

1.4 กรณีการแยกครัวเรือนให้ยึดหลักทะเบียนเกษตรกรเดิมในการคัดกรอง และตรวจสอบความเป็นเกษตรกร หากต้องการแยกครัวเรือนเนื่องจากแยกครอบครัวไปทำกินต่างหากแล้ว จะต้องมีการแยกทะเบียนราษฎร์ และมีเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นเป็นผู้รับรอง เป็นต้น

1.5 กรณีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ทำการบันทึกเลขที่บัญชี ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขอความร่วมมือกับ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ตรวจสอบเลขที่และประเภทบัญชีธนาคารในขั้นตอนการบันทึก ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ส่วนกลางต้องมีการตรวจสอบเลขที่บัญชีให้ตรงกับชื่อผู้ใช้สิทธิ์ก่อนการโอนเงินให้เกษตรกรทุกครั้งพร้อมทั้งแจ้งผลการโอนเงินให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบทันทีที่โอนเงินเสร็จสิ้น

2. การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวตามมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีหนังสือแจ้งจังหวัดต่าง ๆ เกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่เร่งประชาสัมพันธ์เงื่อนไขให้กับเกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการทราบอย่างทั่วถึง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ตุลาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ