การใช้อัตราข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากผลการเกษียณอายุราชการเพื่อบรรจุบัณฑิตครูคืนถิ่นฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 8, 2013 17:43 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การใช้อัตราข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากผลการเกษียณอายุราชการเพื่อบรรจุบัณฑิตครูคืนถิ่น

ตามโครงการกองทุนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย) ในคราวประชุม ครั้งที่ 7/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ประธานกรรมการเสนอ ที่มีมติอนุมัติหลักการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ใช้อัตราข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากผลการเกษียณอายุราชการในทุกปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป เพื่อรองรับการบรรจุนักศึกษาทุนพระราชทาน “บัณฑิตครูคืนถิ่น” โครงการกองทุนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี เท่าจำนวนนักศึกษาทุนที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีการศึกษา ให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูสังกัด สพฐ. ในโรงเรียนที่อยู่ในโครงการกองทุนการศึกษา หรือโรงเรียนเครือข่ายในภูมิลำเนาท้องถิ่นของตนเอง ตามเงื่อนไขข้อผูกพันของโครงการฯ โดยให้รายงานจำนวนอัตราเกษียณอายุราชการที่ต้องใช้ในการบรรจุนักศึกษาทุนพระราชทานในแต่ละปีการศึกษา ให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) รับทราบด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ทันต่อการบรรจุนักศึกษาทุนพระราชทานเป็นการเฉพาะเท่าจำนวนที่จะใช้ในการบรรจุในแต่ละปีงบประมาณ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ โดยยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 เรื่องมาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2552-2556) และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

ศธ. รายงานว่า

1. เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จเจ้าพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการกองทุนการศึกษาร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น คัดเลือกนักศึกษาที่เป็นศิษย์เก่า และหรือผู้ที่มีภูมิลำเนาใกล้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนครูและกำลังศึกษาในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ปีที่ 4 และปีที่ 5 ให้ได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน และให้ทุนการศึกษาพระราชทาน โดยมีเงื่อนไขให้กลับไปสอนหนังสือในโรงเรียนสังกัด สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่มีปัญหาการขาดแคลนครู สำนักงานโครงการกองทุนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี จึงขอความร่วมมือขอโอกาสให้นักศึกษาทุนพระราชทานดังกล่าว ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูในโรงเรียนที่อยู่ในโครงการกองทุนการศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ประกอบกับ สพฐ. มีโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษในท้องถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล บนเกาะ และภูเขา ประสบปัญหาครูขอย้ายออกเนื่องจากไม่ใช่บุคคลในท้องถิ่น และไม่สะดวกในการเดินทาง ทำให้การเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ข้อมูลโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษ มีดังนี้

  ประเภท                      จำนวนสถานศึกษาจำแนกตามพื้นที่ (โรง)                  รวมพื้นที่พิเศษ  (โรง)
           เสี่ยงภัย    กันดาร     มีชน     ชายแดน    พระราชดำริ    บนภูเขา    บนเกาะ
                              กลุ่มน้อย
ประถมศึกษา     951      538      27        266          102      108        34         2,026
ขยายโอกาส     191      255      31         84           54       87        10           712
ทางการศึกษา
มัธยมศึกษา       52        6       -         55           62       11         8           194
การศึกษาพิเศษ     9        1       -          -            -        -         -            10
รวมทั้งสิ้น     1,203      800      58        405          218      206        52         2,942

โครงการกองทุนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรีจึงเป็นโครงการที่สามารถตอบสนองความต้องการครูของโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ ท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล หาบุคคลไปบรรจุได้ยาก ทำให้ได้บุคคลในท้องถิ่นกลับไปบรรจุเป็นข้าราชการครู เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนเด็กในท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเองให้ได้มีความเจริญ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของชุมชน สังคมและประเทศชาติในโอกาสต่อไป

2. เพื่อสนองต่อพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่นห่างไกลกันดาร และช่วยเหลือให้เยาวชนได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรีแล้วกลับไปรับใช้ถิ่นกำเนิดในภูมิลำเนาของตนเองเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดารและขาดแคลน ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาให้ได้มีงานทำ ลดปัญหาการขาดแคลนครูกรณีครูขอย้ายออกจากถิ่นทุรกันดารห่างไกล เพราะไม่ใช่บุคคลในท้องถิ่น ประกอบกับปัจจุบันส่วนราชการยังคงมีสภาพความขาดแคลนอัตรากำลังข้าราชการครูอยู่ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในถิ่นห่างไกล ทุรกันดารตามรอยตะเข็บชายแดน บนเกาะ ภูเขา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีอัตรากำลังข้าราชการครูให้เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนเพื่อ มิให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนามาตรฐานทางการศึกษา และเป็นการสนองต่อพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามโครงการกองทุนการศึกษา สพฐ. จึงมีความจำเป็นในการขอใช้อัตราข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากผลการเกษียณอายุราชการในทุกปีงบประมาณไว้รองรับการบรรจุนักศึกษาทุนพระราชทาน “บัณฑิตครูคืนถิ่น” โครงการกองทุนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี เท่าจำนวนนักศึกษาทุนที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีการศึกษา ให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูสังกัด สพฐ. ในโรงเรียนที่อยู่ในโครงการกองทุนการศึกษา หรือโรงเรียนเครือข่ายในภูมิลำเนาท้องถิ่นของตนเอง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ตุลาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ