การรับรองอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยการจัดการสารปรอท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 8, 2013 17:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รับรอง (adoption) (1) อนุสัญญามินามาตะฯ (2) เอกสาร ข้อมติ (resolutions) และ (3) กรรมสารสุดท้าย (the final act of the conference) ในการประชุม Conference of Plenipotentiaries on the Minamata Convention on Mercury ระหว่างวันที่ 10 -11 ตุลาคม 2556 ณ เมือง Kumamoto/Minamata ประเทศญี่ปุ่นโดยจะยังไม่ลงนามในอนุสัญญาฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และหากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้การรับรองเอกสารข้อมติและกรรมสารสุดท้ายอยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

ร่างอนุสัญญามินามาตะฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสารปรอทและสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์สู่อากาศ แหล่งน้ำ และดิน โดยมีสาระสำคัญมุ่งเน้นการควบคุม ลดและเลิก การผลิตการนำเข้าและส่งออก การใช้ การปลดปล่อย และการบำบัดหรือกำจัดสารปรอทในแหล่งกำเนิดที่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญระดับโลก ซึ่งประกอบด้วย 36 ข้อบท และ 5 ภาคผนวก ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

1. ข้อบทที่ 1-16 เป็นมาตรการควบคุม ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ และเนื้อหาของพันธกรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแหล่งอุปทานสารปรอทและการค้า ผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ กระบวนการผลิตที่มีการใช้สารปรอท กิจการเหมืองทองคำขนาดเล็กที่มีการใช้สารปรอท การปลดปล่อยสารปรอทสู่อากาศแหล่งน้ำ และดิน การเก็บกักสารปรอท กากของเสียปรอท และพื้นที่ที่ปนเปื้อนสารปรอท แหล่งเงินทุนและกลไกต่าง ๆ และการเสริมสร้างศักยภาพ การให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค และการถ่ายทอดเทคโนโลยี

2. ข้อบทที่ 17-36 เป็นมาตรการสนับสนุน เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการในประเด็น ต่าง ๆ ของสำนักเลขาธิการอนุสัญญาเพื่อรองรับการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ต่อไป อาทิ การเผยแพร่ข้อมูล ความตระหนัก และการศึกษา การวิจัยพัฒนาและการติดตามผล ประเด็นด้านสุขภาพ แผนการนำไปปฏิบัติ การจัดทำรายงาน การประเมินความมีประสิทธิผล การประชุมรัฐภาคี สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ การระงับข้อพิพาท การพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของอนุสัญญาฯ สิทธิ์ในการลงคะแนน เสียงการลงนาม การให้สัตยาบัน การรับรอง การให้ความเห็นชอบ หรือการภาคยานุวัติ การมีผลบังคับใช้การสงวนสิทธิ และการถอนตัว

3. ภาคผนวก (Annex) เป็นการแสดงรายการแหล่งที่มีการใช้หรือการปลดปล่อยสารปรอทที่จะมีผลบังคับใช้ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ กระบวนการผลิตที่มีการใช้สารปรอท และแผนจัดการระดับชาติในกิจการเหมืองแร่ทองคำขนาดเล็กที่มีการใช้สารปรอท แหล่งที่มีการปลดปล่อยสารปรอทสู่อากาศและกระบวนการอนุญาโตตุลาการและกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

4. อนุสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้ใน 90 วัน หลังจากมีประเทศครบ 50 ประเทศ มอบสัตยาบันสาร (ratification) การยอมรับ (acceptance) หรือการให้ความเห็นชอบ (approval) หรือการภาคยานุวัติ (accession)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ตุลาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ