โครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 3

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 16, 2013 07:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ประธานกรรมการเสนอ ที่มีมติเห็นชอบโครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วงเงินลงทุนรวม 12,100 ล้านบาท และอนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนประจำปี 2557 สำหรับโครงการฯ จำนวน 333.2 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้ กฟผ. รับข้อสังเกตเพิ่มเติมของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. โครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและรักษาระดับความมั่นคงของระบบส่งไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตามมาตรฐาน สนับสนุนการขยายและปรับปรุงระบบจำหน่ายของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และเพื่อรองรับปัญหาข้อขัดข้องของท่อก๊าซธรรมชาติจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

2. ขอบเขตงาน โครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 3 ประกอบด้วย 8 โครงการย่อย มีรายละเอียดขอบเขตงาน สรุปได้ดังนี้

2.1 โครงการย่อยที่ 1 : ยกระดับแรงดันสายส่ง 500/230 เควี ไทรน้อย-รังสิต-แจ้งวัฒนะ เป็นระบบแรงดัน 500 เควี ไทรน้อย-แจ้งวัฒนะ (Bypass รังสิต)

2.2 โครงการย่อยที่ 2 : ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 เควี (GIS) จตุจักร (เป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่)

2.3 โครงการย่อยที่ 3 : ยกระดับแรงดันสายส่ง 500 เควี ไทรน้อย-บางกอกน้อย ซึ่งระยะแรกจ่ายที่ระดับแรงดัน 230 เควี เป็นระบบแรงดัน 500 เควี

2.4 โครงการย่อยที่ 4 : ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 เควี (GIS) เอราวัณ (เป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่)

2.5 โครงการย่อยที่ 5 : ก่อสร้างสายส่งชั่วคราว 230 เควี บางพลี-อ่อนนุช ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

2.6 โครงการย่อยที่ 6 : ติดตั้งหม้อแปลงเพิ่มเติมตามสถานีไฟฟ้าแรงสูงต่างๆ

2.7 โครงการย่อยที่ 7 : ติดตั้งตัวเก็บประจุไฟฟ้าแบบขนาน (Shunt Capacitor) ตามสถานีไฟฟ้าแรงสูงต่าง ๆ

2.8 โครงการย่อยที่ 8 : ขยายระบบส่งไฟฟ้าเบ็ดเตล็ดระหว่างโครงการและการจัดซื้อที่ดินสำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูงในระยะถัดไป ; ปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงลาดพร้าว ปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงพระนครใต้ จัดซื้อที่ดินสำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูงราชพฤกษ์ จัดซื้อที่ดินสำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูงนิมิตใหม่

3. ประมาณราคาโครงการ ราคาประมาณค่าก่อสร้างโครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลระยะที่ 3 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 12,100 ล้านบาท แยกเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 5,000 ล้านบาท (เทียบเท่า 161.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ : อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) และค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้างอีก 7,100 ล้านบาท

4. แหล่งเงินทุน กฟผ. จะพิจารณาแหล่งเงินทุนของโครงการฯ ดังนี้

4.1 ส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศจากหลายแหล่งเงินทุน ได้แก่ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ ธนาคาร/สถาบันเพื่อการส่งออก-นำเข้า ธนาคารพาณิชย์/สถาบันการเงินเอกชน ต่างประเทศ และ/หรือในประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนต่างประเทศ และ/หรือในประเทศ เงินรายได้ของ กฟผ. และสินเชื่อผู้ขาย

4.2 ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้าง กฟผ. จะพิจารณาแหล่งเงินลงทุน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์/สถาบันการเงินเอกชนในประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนในประเทศ และเงินรายได้ กฟผ.

5. กำหนดแล้วเสร็จ ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มศึกษาเตรียมงานจนก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 5 ปี 5 เดือน โดยมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2561

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ตุลาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ