แผนแม่บทโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 16, 2013 07:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนแม่บทโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2557 — 2560) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ (นพช.) แล้ว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติที่ประชุม นพช. ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สมช. รายงานว่า สมช. ได้จัดการประชุม นพช. ครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก ประชา พรมหนอก) เป็นประธานเพื่อพิจารณาแผนแม่บทโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก โดยมีรายละเอียดในการพิจารณาแผนดังกล่าว ดังนี้

1. ข้อเท็จจริง

คณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตกองทัพภาคที่ 3 (กองทัพภาคที่ 3) ได้ประชุมร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก เพื่อจัดทำแผนแม่บทโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก (พ.ศ. 2557-2560) เพื่อเสริมสร้างคนชุมชน พื้นที่บริเวณชายแดน จำนวน 48 หมู่บ้าน (จังหวัดเชียงใหม่ 13 หมู่บ้าน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 34 หมู่บ้าน จังหวัดตาก 1 หมู่บ้าน) ให้มีภูมิคุ้มกันตนเองในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคง โดยให้คนและชุมชนสามารถดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสามารถสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการเสริมสร้างความมั่นคงชายแดน เฝ้าระวังแจ้งเตือน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนประเทศเพื่อนบ้าน โดยมียุทธศาสตร์ดำเนินงานของแผนแม่บทโครงการฯ รวม 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1.1 ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคง

1) ดำเนินการรวบรวมประชาชนที่อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายให้มาอยู่ร่วมกันในชุมชนและหมู่บ้านเป้าหมาย และพิจารณาเสริมสร้างบุคคลที่มีความเหมาะสมให้เป็นผู้นำในพื้นที่ เพื่อจัดระเบียบการปกครองและสร้างความเข็มแข็งในการป้องกันตนเอง

2) พิจารณากำหนดสถานะของบุคคลในชุมชนและหมู่บ้านเป้าหมายให้มีความชัดเจน ถูกต้อง เหมาะสม เพื่อให้สัญชาติไทยแก่ผู้ที่สมควรได้รับ และจัดทำทะเบียนราษฎร์ให้ถูกต้องและทันสมัย

3) เร่งดำเนินการแยกหมู่บ้าน โดยพิจารณาแยกกลุ่มบ้านในพื้นที่เป้าหมายที่มีความพร้อมให้เป็นหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 พร้อมทั้งดำเนินการฝึก จัดตั้งหมู่บ้านเป้าหมาย ให้เป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง เพื่อให้มีความพร้อมในการสนับสนุนทางราชการในการรักษาความมั่นคงในพื้นที่

4) ดำเนินการฝึกทบทวนและเพิ่มทักษะของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านให้มีความพร้อมในการป้องกันตนเองได้

5) พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยหรือการจัดตั้งกลุ่มระวังภัยในชุมชนเพื่อติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ และให้สามารถรายงานข้อมูลข่าวสารให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างต่อเนื่องและทันเวลาในทุกสถานการณ์

6) ดำเนินงานพัฒนาที่จำเป็น โดยคำนึงถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีของประชาชนตลอดจนเด็กและเยาวชน เพื่อปลูกฝังให้ชายไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่มีจิตสำนึกความเป็นไทย

7) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาความสัมพันธ์หรือการประกอบกิจการร่วมกับชุมชนชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

1.2 ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน

1) เตรียมความพร้อมชุมชน โดยมุ่งต่อยอดเสริมสร้างจิตสำนึกการเป็นคนไทยที่มีคุณภาพและสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เน้นการเรียนรู้ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต

2) ส่งเสริมการทำเกษตรทางเลือก หรือเกษตรแผนใหม่ หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่สอดคล้องสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ วิถีชีวิตของชุมชนและหลักวิชาการแผนใหม่

3) ส่งเสริมอาชีพนอกภาคเกษตรอย่างครบวงจร โดยให้มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมและเอกลักษณ์ของชนเผ่า ทั้งในด้านหัตถกรรมและอุตสาหกรรมภายในครัวเรือน

4) ขยายบริการด้านการศึกษาที่มุ่งพัฒนาทักษะการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียนภาษาไทยของชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยมุ่งให้สามารถใช้ภาษาไทยสื่อสารกับหน่วยงานภาครัฐได้

5) พัฒนาบริการด้านสาธารณสุขให้มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งจัดให้มีหลักประกันด้านสาธารณสุขมูลฐานชุมชนประจำหมู่บ้าน อีกทั้งส่งเสริมการดูแลสุขภาพของครอบครัวและชุมชนแบบองค์รวม โดยการส่งเสริมการตรวจสุขภาพ และงานชุมชนสัมพันธ์ รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมอัตราการเกิดของประชากรในพื้นที่ให้มีอัตราที่ใกล้เคียงกับคนไทยพื้นราบ

1.3 ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1) เสริมสร้างจิตสำนึกในการรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หรือหมู่บ้านของตนเอง และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าอย่างแท้จริง

2) เร่งดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพื่อคืนสภาพป่าไม้และปรับปรุงให้เป็นแหล่งซับน้ำธรรมชาติของชุมชน

3) เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่โดยเฉพาะป่าชุมชน เพื่อให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ

4) พัฒนาและอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยส่งเสริมและสาธิตการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยพืชสด การจัดรูปแบบแปลงนา แปลงผักอินทรีย์ พืชสมุนไพร และแปลงไม้ผลให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในรูปแบบต่าง ๆ

5) จัดการบริหารพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ โดยจัดแบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าชุมชน พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารให้ชัดเจน ซึ่งกำหนดเขตพื้นที่ป่าแยกจากพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินให้ชัดเจน โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของราษฎรในพื้นที่ในทุกขั้นตอน ตลอดจนมุ่งเน้นให้ราษฎรได้เข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาป่าและการทำไร่เลื่อนลอย

6) ป้องกัน ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันกำหนดมาตรการที่เหมาะสม โดยเฉพาะการปลูกป่าทดแทน การสร้างฝายต้นน้ำเพื่อชะลอความเร็วของน้ำ และสร้างความชุ่มชื้นของผืนป่า

1.4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

1) ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมในพื้นที่เท่าที่จำเป็นให้สามารถใช้การได้ตลอดทุกฤดูกาล

2) พัฒนาแหล่งน้ำและปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร โดยการพัฒนาแหล่งน้ำ การจัดหาน้ำ และปรับปรุงคุณภาพน้ำ รวมทั้งพิจารณาก่อสร้างฝายพร้อมระบบส่งน้ำ และสร้างแหล่งน้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของชุมชน

3) ขยายเขตบริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยปรับปรุงระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำขนาดเล็กที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

4) สนับสนุนการติดตั้งระบบโทรศัพท์ทางไกลชนบทผ่านดาวเทียมในหมู่บ้านและชุมชนเป้าหมายที่ยังขาดแคลน

2. จากยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงานที่ได้กำหนดไว้ (ตามข้อ 1.) กองทัพภาคที่ 3 ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักตามแผนแม่บท จึงได้กำหนดกิจกรรมและการมอบหมายการปฏิบัติแก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป โดยจำแนกกิจกรรมการดำเนินงานเป็น 3 ส่วน คือ กิจกรรมการพัฒนาทั่วไป กิจกรรมการพัฒนาเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ และการบริหารจัดการ

3. คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556 มีมติดังนี้

3.1 เห็นชอบแผนแม่บทโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก

3.2 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการปรับแผนงาน/โครงการ/งบประมาณของหน่วยงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เพื่อดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วน และจัดทำแผนงาน/โครงการรองรับในแผนงบประมาณปกติตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 หากมีโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนและไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณตามแผนงานปกติของหน่วยงานเห็นสมควรให้เสนอของบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ตุลาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ