ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 พ.ศ. ...

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 29, 2013 15:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว มีดังนี้

1. บทนิยาม “นิติบุคคลเฉพาะกิจ” หมายความว่า ตัวกลางที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ และได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจตามพระราชกำหนดนี้

“การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์” หมายความว่า การที่นิติบุคคลเฉพาะกิจรับโอนสินทรัพย์หรือรับสินทรัพย์ไว้เป็นหลักประกันจากผู้จำหน่ายสินทรัพย์เพื่อทำการออกและจำหน่ายหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุน โดยนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์มาชำระหรือมอบให้แก่ผู้จำหน่ายสินทรัพย์ตามความตกลงที่ทำไว้ และจะมีการชำระหนี้แก่ผู้ถือหลักทรัพย์โดยขึ้นอยู่กับกระแสรายรับที่เกิดจากสินทรัพย์ที่รับโอนมาหรือที่รับไว้เป็นหลักประกัน

“สินทรัพย์” หมายความว่า 1) สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เป็นเงินที่ก่อให้เกิดกระแสรายรับ หรือ 2) สิทธิเรียกร้องที่จะมีขึ้นในอนาคตโดยให้ชำระหนี้เป็นเงินที่ก่อให้เกิดกระแสรายรับตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

“ผู้จำหน่ายสินทรัพย์” หมายความว่า ผู้โอนหรือจะโอนสินทรัพย์ หรือให้หรือจะให้สินทรัพย์ ไว้เป็นหลักประกันแก่นิติบุคคลเฉพาะกิจในการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

2. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดให้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

2.1 กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

2.2 กำกับดูแลให้นิติบุคคลเฉพาะกิจปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้

2.3 กำหนดประเภทของสินทรัพย์ที่อนุญาตให้ทำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ และประเภทของหลักทรัพย์ที่จะออกเนื่องจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ฯลฯ

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจมอบอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการแทนได้

3. หลักเกณฑ์การจดทะเบียนนิติบุคคลเฉพาะกิจ

3.1 เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจดทะเบียนนิติบุคคลเฉพาะกิจ โดยบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือทรัสต์ที่จะจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ ต้องมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

3.2 นิติบุคคลเฉพาะกิจจะดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์หลายโครงการในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่นิติบุคคลเฉพาะกิจดำเนินการโดยการก่อตั้งทรัสต์ ทรัสตีอาจดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์หลายโครงการในขณะเดียวกันได้

4. ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลเฉพาะกิจ ในการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ห้ามมิให้นิติบุคคลเฉพาะกิจกระทำการใดนอกจากที่กำหนดไว้ในโครงการที่ได้รับอนุมัติ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

5. การได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้อง กำหนดให้นิติบุคคลเฉพาะกิจได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้อง ดังนี้

5.1 การโอนสินทรัพย์ที่ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้

5.2 การโอนสินทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้โดยผลของกฎหมายอันเนื่องมาจากการควบกิจการของนิติบุคคลดังกล่าว

6. การยกเว้นค่าธรรมเนียมกรณีการโอนและการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียน การโอนและการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนเกี่ยวกับสินทรัพย์ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะกำหนดในกฎหมายใด ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการโอนและการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหลักประกันที่เกี่ยวพันกับสินทรัพย์ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติโดยอนุโลม

7. การเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความในศาลของนิติบุคคลเฉพาะกิจ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่โอนให้แก่นิติบุคคลเฉพาะกิจตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ ให้นิติบุคคลเฉพาะกิจเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนผู้จำหน่ายสินทรัพย์

8. บทสันนิษฐานสำหรับการกำหนดราคาอันสมควรในการโอนสินทรัพย์ การโอนสินทรัพย์จากผู้จำหน่ายสินทรัพย์ไปยังนิติบุคคลเฉพาะกิจในโครงการที่ได้รับอนุมัติด้วยมูลค่าดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นราคาอันสมควรและไม่เป็นการโอนโดยมีค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร หรือทำให้เจ้าหนี้ของผู้จำหน่ายสินทรัพย์เสียเปรียบ

8.1 มูลค่าทางบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี

8.2 มูลค่าที่ที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งมิใช่ที่ปรึกษาทางการเงินของโครงการนั้นได้ให้ความเห็นว่าเป็นราคาอันสมควรในการโอนสินทรัพย์ของโครงการ และพิจารณาถึงการเพิ่มความน่าเชื่อถือของธุรกรรมในการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ด้วยแล้ว

9. บทกำหนดโทษ นิติบุคคลเฉพาะกิจใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 13 หรือมาตรา 15 วรรคสอง หรือตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15/1 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท

10. บทเฉพาะกาล บรรดาประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ออกตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะได้มีประกาศที่ออกตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ตุลาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ