1. เห็นชอบการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยท่าเรือบก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ลงนามความตกลงในนามรัฐบาลไทย
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่ผู้ลงนามความตกลง และจัดทำข้อความการตั้งข้อสงวนในขั้นตอนการให้สัตยาบัน
4. มอบหมายให้ กต. ดำเนินการจัดทำสัตยาบันสารเพื่อยื่นต่อเอสแคปในวันลงนามความตกลงดังกล่าว
สาระสำคัญของเรื่อง
ความตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยท่าเรือบกซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) ในการประชุมประจำปี สมัยที่ 69 เมื่อเดือนเมษายน 2556 มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความตั้งใจของสมาชิกเอสแคปต่อการพัฒนาท่าเรือบกที่มีความสำคัญระดับชาติ เพื่อบูรณาการระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยมีการนำเสนอในเรื่องต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. คำนิยามศัพท์และการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
1.1 ท่าเรือบก (Dry Port) ในความตกลงนี้หมายความถึง สถานที่ภายในแผ่นดินที่เป็นเสมือนศูนย์โลจิสติกส์ซึ่งเชื่อมต่อกับรูปแบบการขนส่งหนึ่งรูปแบบหรือมากกว่า ใช้สำหรับการขนถ่ายการเก็บสินค้า และการตรวจควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าในการค้าระหว่างประเทศและการดำเนินการผ่านพิธีศุลกากร
1.2 รายชื่อท่าเรือบกตามภาคผนวก 1 เป็นฐานสำหรับการพัฒนาจุดเชื่อมโยงสำคัญในการบูรณาการระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยภาคีมีความตั้งใจจะพัฒนาท่าเรือบกในกรอบโครงการกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของประเทศตน
1.3 ความตกลงฯ จะเปิดให้มีการลงนามสำหรับรัฐสมาชิกเอสแคปที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2556 หลังจากนั้น จะเปิดให้ลงนามที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557
1.4 ความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้ 30 วันหลังจากวันที่สัตยาบันสาร สารการยอมรับสารให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสาร ฉบับที่ 8 ของความตกลงฉบับนี้ได้รับการส่งมอบ
1.5 เอสแคปจะจัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยท่าเรือบกเพื่อพิจารณาการดำเนินการตามความ ตกลงฯ และพิจารณาข้อเสนอการแก้ไขต่าง ๆ โดยรัฐสมาชิกเอสแคปทั้งหมดจะเป็นสมาชิกของคณะทำงาน ซึ่งจะประชุมทุก 2 ปี โดยภาคีสามารถเรียกร้องให้มีการประชุมคณะทำงานสมัยพิเศษได้
1.6 การแก้ไขความตกลงฯ จะทำได้ผ่านการเสนอจากภาคี โดยฝ่ายเลขานุการจะแจ้งเวียนข้อเสนอการแก้ไขให้สมาชิกทั้งหมดของคณะทำงาน
1.7 การแก้ไขรายชื่อท่าเรือบกในภาคผนวก 1 จะทำได้ผ่านการเสนอจากภาคีในรายการซึ่งตั้งอยู่ในอาณาเขตของตน
1.8 กรณีการระงับข้อพิพาท ความตกลงนี้ได้ระบุว่าในการส่งมอบสัตยาบันสาร รัฐใด ๆ อาจตั้งข้อสงวนโดยระบุว่าจะไม่ถูกผูกมัดโดยข้อกำหนดเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยการระงับข้อพิพาท (ตามข้อ 13 ของความตกลงฯ) ภาคีอื่น ๆ ก็จะไม่ถูกผูกมัดโดยข้อกำหนดเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยตามที่ภาคีใด ๆ นั้นได้ตั้งข้อสงวนไว้
2. การระบุท่าเรือบกที่มีความสำคัญระดับนานาชาติในภาคผนวก 1
รายชื่อท่าเรือบกที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติปรากฏตามรายชื่อในภาคผนวกแนบท้าย ประกอบด้วย ท่าเรือบกที่มีอยู่ในปัจจุบัน 153 แห่ง และท่าเรือบกที่มีศักยภาพ 87 แห่งใน 27 ประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทยมี 3 แห่ง ประกอบด้วย สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง กรุงเทพฯ เป็นท่าเรือบกที่มีอยู่ในปัจจุบัน และโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย และโครงการสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์นาทา จังหวัดหนองคาย เป็นท่าเรือบกที่มีศักยภาพ
3. หลักแนวทางการพัฒนาและการดำเนินงานเกี่ยวกับท่าเรือบกในภาคผนวก 2
ภาคีจะใช้ความพยายามทุกอย่างที่เป็นไปได้ในการก่อสร้างการยกระดับ และการปฏิบัติท่าเรือบก โดยการพัฒนาและการดำเนินการเกี่ยวกับท่าเรือบกตามรายชื่อในภาคผนวก 1 ของความตกลงฯ จะมีแนวทางตามหลักการดังต่อไปนี้
3.1 หน้าที่หลักของเรือบก
ประกอบด้วยการขนถ่าย การเก็บชั่วคราว และการตรวจควบคุม การเคลื่อนย้ายสินค้าในการค้าระหว่างประเทศและการดำเนินการผ่านพิธีศุลกากร หน้าที่อื่น ๆ ของท่าเรือบก ได้แก่ การรับและส่งสินค้า การรวบและกระจายสินค้า การเก็บของในคลังสินค้า และการถ่ายลำ
3.2 กรอบด้านสถาบัน การบริหาร และกฎหมาย
ภาคีจะริเริ่มกรอบด้านสถาบัน การบริหาร และการกำกับดูแลที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและการดำเนินงานท่าเรือบก รวมทั้งมาตรการสำหรับการตรวจสอบ และการดำเนินการควบคุมและผ่านพิธีศุลกากรที่เป็นไปตามกรอบกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของภาคีที่เกี่ยวข้อง ท่าเรือบกตามรายชื่อในภาคผนวก อาจจะได้รับการกำหนดให้เป็นจุดเริ่มต้นหรือปลายทางสำหรับเอกสารศุลกากร ทั้งนี้ ภาคีจะประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการขนส่งที่เกี่ยวข้อง องค์กรและสถาบันระหว่างประเทศ เพื่อสร้างการยอมรับท่าเรือบก เจ้าของท่าเรือบกเป็นได้ทั้งภาครัฐ เอกชน และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน
3.3 การออกแบบ การวางผัง และความสามารถรองรับ
ท่าเรือบกจะได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถรองรับที่เพียงพอและการวางผังที่ปลอดภัยและสะดวกในการเคลื่อนย้ายตู้สินค้า สินค้าที่บรรทุก และยานพาหนะ ทั้งภายในและผ่านท่าเรือบก รวมทั้งการจัดเตรียมการขยายความสามารถรองรับตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงรูปแบบการขนส่ง ความต้องการของผู้ใช้บริการท่าเรือบก และปริมาณสินค้าและตู้สินค้าในอนาคต
3.4 โครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก
ท่าเรือบกจะมีโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ อัตรากำลังคนที่เพียงพอต่อปริมาณสินค้าในปัจจุบันและที่คาดการณ์ไว้ตามดุลพินิจของภาคี ภายใต้กรอบกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และแนวทางปฏิบัติของตน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ตุลาคม 2556--จบ--