เอกสารผลการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมความร่วมมือแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 13

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 29, 2013 15:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์เพิร์ท และร่างปฏิญญาสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียว่าด้วยหลักการใช้มหาสมุทรอินเดียและทรัพยากรของมหาสมุทรอินเดียอย่างสันติและยั่งยืน

2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารดังกล่าว

3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของร่างเอกสาร ทั้ง 2 ฉบับ มีดังนี้

1. ร่างแถลงการณ์เพิร์ท ระบุถึงแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเล การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การจัดการประมง การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ความร่วมมือด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและการพัฒนาของภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเลและการเปลี่ยนชื่อจากสมาคมความร่วมมือแห่งมหาสมุทรอินเดีย IOR-ARC เป็นสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association) หรือ IORA

2. ร่างปฏิญญาสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียว่าด้วยหลักการใช้มหาสมุทรอินเดียและทรัพยากรของมหาสมุทรอินเดียอย่างสันติและยั่นยืน จะกำหนดแนวทางการดำเนินการที่เรียกว่า “หลักการเพิร์ท” โดยเรียกร้องให้รัฐสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ พันธกรณีในการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรอินเดียและทรัพยากรของมหาสมุทรอินเดียอย่างยั่งยืนตามกฎหมายระหว่างประเทศ พันธกรณีด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประโยชน์จากการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่นยืน การรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรประมง การจัดการกับภัยคุกคามต่าง ๆ และการเสริมสร้างศักยภาพให้กับรัฐสมาชิก

3. ร่างเอกสารทั้งสองฉบับไม่มีประเด็นพิจารณาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากเป็นการแสดงเจตนารมณ์ด้านนโยบายร่วมกันของรัฐสมาชิก IOR-ARC เกี่ยวกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมถึงความมั่นคงและความปลอดภัยในการเดินเรือในมหาสมุทรอินเดีย และโดยที่จะไม่มีการลงนามในเอกสารดังกล่าว เอกสารทั้งสองฉบับจึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

4. ร่างแถลงการณ์และร่างปฏิญญาสอดคล้องกับนโยบายของไทย ในการดำเนินงานด้านความมั่นคงทางทะเล การประมง การจัดการภัยพิบัติ ความร่วมมือด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม และจะเป็นแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือของไทยในกรอบนี้ต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม

5. กรอบความร่วมมือนี้เป็นอีกกลไกหนึ่งในการส่งเสริมลู่ทางการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงการคมนาคมทางทะเล เนื่องจากภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง มีประชากรรวมประมาณ 2,500 ล้านคน และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ โดยเฉพาะทรัพยากรประมง นอกจากนี้ ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกรอบนี้ในการขอรับการสนับสนุนในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติวาระปี ค.ศ. 2017 — 2018 และประชาสัมพันธ์การดำเนินการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของไทยในประเด็นระหว่างประเทศอื่น ๆ อาทิ Thai-Africa Initiative ความมั่นคงทางทะเล และการจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ตุลาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ