ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงพลังงานแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 4, 2013 15:24 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงพลังงานแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง พน. แห่งราชอาณาจักรไทย และ พน. แห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่ผู้ลงนามในข้อ 2.

4. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของไทย ให้ พน. หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีดังนี้

1. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ระบุสาขาความร่วมมือด้านพลังงาน ได้แก่ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทางเลือก และความร่วมมืออื่น ๆ ที่เห็นชอบร่วมกัน

2. รูปแบบความร่วมมือกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Joint Working Group) เพื่อกำหนดโครงการความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระยะยาวที่ครอบคลุมตามทิศทางของกิจกรรม และกำหนดมาตรการสำหรับความสนับสนุนจากรัฐบาลที่จำเป็นเพื่อให้โครงการสามารถประสบความสำเร็จได้

3. บันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับเป็นระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่มีการลงนามและจะต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลาเดียวกัน เว้นแต่ว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบถึงความตั้งใจที่จะไม่ขอต่ออายุบันทึกความเข้าใจนี้ โดยการสิ้นสุดการใช้บันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลต่อกิจกรรมและโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือที่กำลังดำเนินการอยู่ตามบันทึกความเข้าใจนี้ จนกว่ากิจกรรมและโครงการนั้น ๆ จะเสร็จสิ้น หรือแล้วแต่ที่คู่สัญญาทั้งสองจะตกลงกันเป็นอย่างอื่น

4. ในข้อ 7 ของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ได้ระบุว่าบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมิใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศ หรือเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ

5. บันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะจัดทำเป็น 3 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษารัสเซีย โดยหากมีข้อโต้แย้งและมีการตีความที่คลาดเคลื่อน จะยึดร่างบันทึกความเข้าใจฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลักในการตีความ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ