ผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 5/2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 4, 2013 15:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2556 ณ จังหวัดลพบุรี

2. เห็นชอบตามมติที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 5/2556 ณ จังหวัดลพบุรี และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่ประชุมตามข้อ 2 รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2556 เวลา 15.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 90 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และสถาบันภาคเอกชน ได้แก่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และผู้แทนภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาท นั้น

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขอเสนอผลการประชุมต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดลพบุรี ดังนี้

ผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค มี 5 เรื่อง 23 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้

1. การส่งเสริมการค้าและการลงทุน (เสนอโดย กกร.)

1.1 ข้อเสนอ

1) ขอให้สนับสนุนโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและยกระดับการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) ประกอบด้วย (1) การยกระดับการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) 4 ด้าน คือ การพัฒนาด้านห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาด้านสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาด้านขับเคลื่อนอุปสงค์ และการสร้างความยั่งยืน และ (2) การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อความมั่นคงด้านอาหารและเป็นฐานวัตถุดิบแก่ภาคอุตสาหกรรมอาหารเพื่อให้กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง) นำไปจัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตพืชหลัก วิจัยพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูงและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดิน และจัดตั้งโรงเรียนเกษตรเพื่ออาชีพเกษตรกร

2) ขอให้สนับสนุนจัดตั้งโครงการต้นแบบในการแปรรูปและใช้ประโยชน์จากเถ้าแกลบให้เป็นสารปรับปรุงดิน และมีแร่ธาตุที่เป็นสารอาหารให้กับพืช โดยเฉพาะการปลูกข้าว เพื่อสนับสนุนโครงการปลูกข้าวในเชิงอุตสาหกรรม โดยพื้นที่ตั้งโครงการจะอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงที่ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท

3) ขอให้กระทรวงมหาดไทยศึกษาการบริหารจัดการขยะในชุมชนครบวงจรสอดรับกับยุทธศาสตร์ของประเทศ เรื่อง “การบริหารจัดการของภาครัฐ” โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ (1) กำหนดรูปแบบโรงพักขยะมาตรฐาน สัดส่วน ขยายตามจำนวนประชากรในพื้นที่ มีระบบการแยกขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ มีโรงหมักก๊าซ ทำปุ๋ยอินทรีย์ และอัดขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) (2) สร้างโรงพักขยะ 1 แห่ง ต่อ 1 อำเภอ เป็นต้นแบบ ก่อนขยายไประดับตำบล และ (3) โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ขนาด 5 - 10 เมกะวัตต์ จังหวัดละแห่ง โดยใช้ขยะเชื้อเพลิง RDF จากโรงพักขยะทั่วทั้งจังหวัด

4) ขอให้สนับสนุนจังหวัดลพบุรีเป็นเขตส่งเสริมพิเศษการลงทุนด้านพลังงานทดแทน บริเวณเขตวังเพลิง - ม่วงค่อม ติดทางหลวงแผ่นดินที่ 21 เส้นทางไปจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 12 ตารางกิโลเมตร (7,500 ไร่) โดยให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับ สิทธิประโยชน์ของโครงการที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

1.2 มติที่ประชุม

1) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมกันเพื่อปรับปรุงรายละเอียดของโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและยกระดับการผลิตอาหารปลอดภัยครบวงจรในพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง ให้มีความชัดเจนโดยใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่มีอยู่ของหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นต้น

2) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการจัดตั้งโครงการแปรรูปเถ้าแกลบ โดยพิจารณาใช้ประโยชน์จากงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆ เป็นพื้นฐานในการดำเนินการด้วย

3) มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพร่วมในการดำเนินการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะในชุมชน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการโครงการได้อย่างยั่งยืน โดยเชื่อมโยงกลไกดำเนินการที่มีอยู่ในพื้นที่ และสร้างกระบวนการให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมดำเนินโครงการให้เป็นโครงการนำร่องและขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อไป

4) มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงานพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กิจการด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทนเป็นกรณีพิเศษ โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ ความเหมาะสมของอุตสาหกรรม ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสิทธิของประชาชนและชุมชนในการดำเนินโครงการ

2. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (เสนอโดย กกร.)

2.1 ข้อเสนอ

1) ขอให้เร่งรัดโครงการทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่สายทางหลวงหมายเลข 3195 บรรจบทางหลวงหมายเลข 32 (ทางเลี่ยงเมืองอ่างทอง) ระยะทาง 5.1 กิโลเมตร

2) ขอให้เร่งรัดโครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองลพบุรี (ทางหลวงหมายเลข 366) ระยะทาง 19 กิโลเมตร

3) ขอให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านเหนือ 4 ช่องจราจร ระยะทาง 13 กิโลเมตร

4) ขอให้เร่งรัดโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างจังหวัด โดยการขยายช่องการจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ตลอดเส้นทาง รวม 2 เส้นทาง ได้แก่ (1) ทางหลวงหมายเลข 309 ตอนสิงห์บุรี-อ่างทอง และทางหลวงหมายเลข 311ตอนสิงห์บุรี-ชัยนาท (อ่างทอง-สิงห์บุรี-ชัยนาท) รวมระยะทาง 38.513 กิโลเมตร และ (2) ทางหลวงหมายเลข 3032 ตอนสิงห์บุรี-สุพรรณบุรี

5) ขอให้เร่งรัดการปรับปรุงทางแยกต่างระดับชัยนาทที่ถนนสายเอเชีย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32) (กม. 131+595)

6) ขอให้สนับสนุนโครงการศึกษาทางหลวงแนวใหม่ 4 ช่องจราจร แยกทางหลวงหมายเลข 32 ทางเลี่ยงเมืองลพบุรี (366) ระยะทาง 25 กิโลเมตร เพื่อพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมและขนส่งระหว่างภูมิภาคและระบบขนส่งทางน้ำและระบบขนส่งทางรางในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 ตามแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (2 ล้านล้านบาท)

7) ขอให้สนับสนุนโครงการศึกษาสร้างเกาะกลางแบบยกตัว ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1) ตรงสี่แยกเข้าชัยนาท-บ้านกล้วย กม. 280+578 (แยกหลวงพ่อโอ-ท่าน้ำอ้อย) ระยะทาง 24.984 กิโลเมตร เพื่อลดอุบัติเหตุและป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงและผู้ใช้เส้นทาง

2.2 มติที่ประชุม

1) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปประกอบการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินโครงการ ดังนี้ (1) โครงการทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่สายทางหลวงหมายเลข 3195 บรรจบทางหลวงหมายเลข 32 (ทางเลี่ยงเมืองอ่างทอง) (2) โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองลพบุรี (ทางหลวงหมายเลข 366) ระยะทาง 19 กิโลเมตร (3) โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านเหนือ 4 ช่องจราจร ระยะทาง 13 กิโลเมตร (4) โครงการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างจังหวัด โดยการขยายช่องการจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ตลอดเส้นทาง รวม 2 เส้นทาง และ (5) การปรับปรุงทางแยกต่างระดับชัยนาทที่ถนนสายเอเชีย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32) (กม. 131+595) ตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีตามขั้นตอนปกติต่อไป

2) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินโครงการศึกษาทางหลวงแนวใหม่ 4 ช่องจราจร แยกทางหลวงหมายเลข 32 ทางเลี่ยงเมืองลพบุรี (366) ระยะทาง 25 กิโลเมตร ในรายละเอียดเพิ่มเติม

3) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมประสานสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการศึกษาสร้างเกาะกลางแบบยกตัว ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1) ตรงสี่แยกเข้าชัยนาท-บ้านกล้วย กม. 280+578 (แยกหลวงพ่อโอ-ท่าน้ำอ้อย) ระยะทาง 24.984 กิโลเมตร

3. การส่งเสริมการท่องเที่ยว (เสนอโดย กกร.)

3.1 ข้อเสนอ

ขอให้สนับสนุนโครงการ “ยกระดับศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนแฝก เป็นศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง และจำหน่ายสินค้าชุมชนตามลำน้ำแม่ลา-การ้อง จังหวัดสิงห์บุรี” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรระดับชุมชน

3.2 มติที่ประชุม

มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประสานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปศึกษาในรายละเอียดของการดำเนินโครงการและขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากงบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ให้มุ่งเน้นการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโครงการ

4. รายงานการติดตามความคืบหน้าประเด็นข้อเสนอตามมติ กรอ.ภูมิภาค ครั้งที่ 1-7/2555 และครั้งที่ 1/2556 (เสนอโดย สศช.) 4.1 ข้อเสนอ

1) สศช. รายงานที่ประชุมว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ได้มอบหมายให้ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กรอ.ภูมิภาค รับไปประชุมหารือกับภาคเอกชน เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานและจัดลำดับความสำคัญตามศักยภาพของประเด็นการพัฒนา และนำเสนอผลการดำเนินการต่อที่ประชุม กรอ.ภูมิภาค และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

2) เมื่อวันที่ 13, 16, 27 สิงหาคม 2556 และวันที่ 11 ตุลาคม 2556 สศช. ได้จัดประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ กกร. สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เพื่อติดตามและตรวจสอบความคืบหน้าการดำเนินการตามมติ กรอ.ภูมิภาค ครั้งที่ 1-7/2555 และ ครั้งที่ 1/2556 รวม 8 ครั้ง จำนวน 153 ประเด็น และได้กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งประเด็นข้อเสนอออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

(1) กลุ่มที่ดำเนินการแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ ประเด็นข้อเสนอซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามที่ที่ประชุม กรอ.ภูมิภาค และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้รับไปดำเนินการและมีความคืบหน้ามาโดยลำดับ ซึ่งมีจำนวน 122 ประเด็น

(2) กลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ ประเด็นข้อเสนอซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการแล้ว แต่ยังมีความคืบหน้าในการดำเนินการล่าช้า ทั้งนี้ กลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำแนกเป็น (1) กลุ่มที่มีความสำคัญยิ่งและต้องดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน (2) กลุ่มที่มีความสำคัญและต้องดำเนินการในเวลาที่เหมาะสม (3) กลุ่มที่มีความสำคัญน้อยแต่ต้องดำเนินการในเวลาที่เหมาะสม และ (4) กลุ่มที่ต้องทบทวน/ปรับปรุงข้อเสนอ และดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งมีจำนวน 31 ประเด็น ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้จัดกลุ่มเป็น 4 กลุ่มย่อยที่จะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาเร่งรัดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

(2.1) กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีความสำคัญยิ่งและต้องดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน เช่น (1) การยกระดับจุดผ่อนปรน/เปิดจุดผ่านแดน (2) การสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเป็น Medical Excellence Centre/Medical Tourism และ (3) การทบทวนการขยายสิทธิให้นักลงทุนนอกภาคีอาเซียน (Non Party) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีบริการ เป็นต้น

(2.2) กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีความสำคัญและต้องดำเนินการในเวลาที่เหมาะสม เช่น (1) การจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้อย่างเต็มรูปแบบในระยะที่ 2 ของโครงการ และ (2) โครงการยกระดับสนามบินอุบลราชธานี เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินใน อินโดจีน และผลักดันให้มีเที่ยวบินและสายการบินต่างประเทศในอินโดจีนมาลงที่สนามบินอุบลราชธานี และบินไปยังเมืองสำคัญๆ ของกลุ่มอินโดจีนโดยตรง เป็นต้น

(2.3) กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีความสำคัญน้อย แต่ต้องดำเนินการในเวลาที่เหมาะสม (ไม่มี)

(2.4) กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ต้องทบทวน/ปรับปรุงข้อเสนอ และรอดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น (1) โครงการจัดตั้งศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จังหวัดอุดรธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (2) โครงการสร้างห้องแช่เยือกแข็งผลไม้เพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและส่งออกผลไม้ของภาคตะวันออก และ (3) การพัฒนาตลาดพันธบัตรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้จัดลำดับความสำคัญของประเด็นข้อเสนอในกลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีความสำคัญยิ่งและต้องดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน เพื่อติดตามและเร่งรัดการดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น การยกระดับจุดผ่อนปรน/เปิดจุดผ่านแดน การยกระดับจุดผ่อนปรน/เปิดจุดผ่านแดน การยกระดับจุดผ่อนปรน/เปิดจุดผ่านแดน การสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเป็น Medical Excellence Centre/Medical Tourism ในวงเงิน 2,900 ล้านบาท และการทบทวนการขยายสิทธิให้ นักลงทุนนอกภาคีอาเซียน (Non Party) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีบริการ เป็นต้น

3) สำหรับการประชุม กรอ.ภูมิภาค ครั้งที่ 2-4/2556 ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา กำแพงเพชร และพระนครศรีอยุธยา มีประเด็นข้อเสนอรวม 48 ประเด็น มีหลายประเด็นที่เข้าสู่ระบบปกติของการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น (1) โครงการพัฒนาถนนสระบุรี-ปากบาง (สบ.4001) เป็นถนนวัฒนธรรมไท-ยวน เพื่อการท่องเที่ยว (2) โครงการศึกษาการจัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการการค้าและนวัตกรรมแปรรูปข้าวไทย” และ (3) โครงการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตร — Agro Industry Commodity (Model: ข้าว) เป็นต้น ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการจะได้ติดตามผลการดำเนินการและรายงานต่อที่ประชุม กรอ.ภูมิภาค อย่างต่อเนื่อง

4.2 มติที่ประชุม

1) รับทราบผลการติดตามความคืบหน้าประเด็นข้อเสนอตามมติ กรอ.ภูมิภาค ครั้งที่ 1-7/2555 และครั้งที่ 1/2556 ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ

2) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการรับประเด็นข้อเสนอในกลุ่มที่ 1กลุ่มที่มีความสำคัญยิ่งและต้องดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน ไปประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอที่ประชุม กรอ.ภูมิภาค ต่อไป

3) มอบหมายให้ภาคเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เป็นแกนหลักร่วมติดตามความคืบหน้าประเด็นข้อเสนอในกลุ่มที่ดำเนินการแล้วตามมติคณะรัฐมนตรีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

5. เรื่องอื่นๆ รวม 10 เรื่อง ดังนี้ (เสนอโดย สทท./กกร./สศช.)

5.1 การปรับการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ

1) ข้อเสนอ

ขอแก้ไขปัญหาการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ดังนี้ (1) ควรควบรวมอำนาจการออกใบอนุญาตประเภทต่างๆ ให้อยู่ในอำนาจอนุมัติของหน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบดูแลตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน โดยให้ใช้เฉพาะกับกิจการพลังงานทดแทนเท่านั้น และ (2) ควรมีการออกระเบียบประมวลหลักการปฏิบัติงาน (Code of Practice; COP) ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมกับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทุกประเภท เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อสร้างการอนุมัติที่เป็นแบบอัตโนมัติแทนการพิจารณาข้อมูลเป็นรายโครงการ ซึ่งจะลดขั้นตอนของการตรวจสอบ และการอนุมัติได้อย่างมาก

2) มติที่ประชุม

มอบหมายให้กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาดำเนินการเพื่อเร่งรัดการปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดความซ้ำซ้อน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556

5.2 การขอให้ปรับอัตราส่วนเพิ่มให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนจากพลังงานทดแทน ขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์

1) ข้อเสนอ

ขอให้ปรับอัตราส่วนเพิ่มให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนจากพลังงานทดแทน ขนาดไม่เกิน 1เมกะวัตต์ โดยกำหนดอัตราส่วนเพิ่มสำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ แบบ Public Private Partnership (PPP) เพื่อให้ใช้จุดเด่นของชุมชนที่เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ (Feed-stock) มาร่วมกับจุดแข็งของภาคเอกชนที่มีเทคโนโลยี การจัดการ และเงินทุน พร้อมมาร่วมลงทุนในโครงการ ดังนี้ (1) ออกกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจัดตั้งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนชีวภาพ เช่น การมีส่วนร่วมของชุมชน ขนาดของโรงไฟฟ้า สัดส่วนการถือหุ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนที่พร้อมร่วมลงทุน และเอกชนที่มีศักยภาพ (2) เพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าที่ให้อัตราส่วนเพิ่ม (Adder) ของโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กที่ขายไฟฟ้าไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ในระยะไม่เกิน 7 ปี และ (3) กำหนดโควตาแต่ละประเภทเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับค่า Ft มากจนเกินไป

2) มติที่ประชุม

มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการประกาศใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ของแต่ละประเภทของพลังงานทดแทนที่ชัดเจนโดยเร็ว โดยให้มีการพิจารณาร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนมากขึ้น

5.3 โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ SMEs ไทย สู่ประชาคมอาเซียน ระยะที่ 2 (Innovation Coupon for SMEs)

1) ข้อเสนอ

ขอให้สนับสนุนโครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ SMEs ไทยสู่ประชาคมอาเซียน ระยะที่ 2 (Innovation Coupon for SMEs) โดย (1) รับทราบผลการดำเนินงานโครงการคูปองนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในระยะที่ 1 (ปี 2553 — 2555) และ (2) พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ เพื่อดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 2 (ตุลาคม 2556 — ธันวาคม 2559)

2) มติที่ประชุม

รับทราบผลการดำเนินงานโครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ SMEs ไทยระยะที่ 1 (ปี 2553 — 2555) ในเบื้องต้น และมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศึกษารายละเอียดการดำเนินโครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ SMEs ไทยสู่ประชาคมอาเซียน ระยะที่ 2 โดยให้นำผลการประเมินโครงการฯ ระยะที่ 1 มาประกอบการพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนต่อไป

5.4 ข้อเสนอความเห็นต่อการเจรจาขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า IT (ITA Expansion) ของประเทศไทย

1) ข้อเสนอ

ขอให้ทบทวนการเข้าร่วมการเจรจาขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า IT (ITA Expansion) ของประเทศไทย โดยปรับรายการสินค้าตามหลักและเจตนารมณ์ของรายการสินค้า IT ให้ชัดเจน และกำหนดพิกัดศุลกากรให้ถูกต้องตามหลักศุลกากรสากล รวมทั้งเลือกรายการสินค้า IT ที่มีความชัดเจน และนำมาประกาศยกเว้นอากรขาเข้าภายใต้โครงสร้างภาษีของประเทศไทยในลักษณะของ GSP ได้เอง

2) มติที่ประชุม

มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์นำเรื่องการทบทวนการเข้าร่วมการเจรจาขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า IT (ITA Expansion) ของประเทศไทย โดยปรับรายการสินค้าตามหลักและเจตนารมณ์ของรายการสินค้า IT ให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศพิจารณาตามขั้นตอน

5.5 ข้อเสนอความคิดเห็นต่อกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน

1) ข้อเสนอ

ความคิดเห็นต่อกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน โดย (1) กำหนดอัตราส่วนการจ้างงานคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตรา 100 : 1 เป็นกำหนดอัตราส่วนลูกจ้างทุก 200 คนต่อคนพิการ 1 คน (2) ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาออกหนังสือยกเว้นการส่งเงินสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการผ่อนผันให้แก่สถานประกอบการที่มีความประสงค์จะจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่สามารถหาคนพิการเข้าทำงานได้ตามแนวปฏิบัติของกฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2537 (3) กรณีสถานประกอบการไม่ประสงค์หาคนพิการเข้าทำงานให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี ปีละครึ่งหนึ่งของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (4) ขอให้พิจารณายกเว้นการส่งเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างคนพิการ และ (5) ขอผ่อนผันการส่งเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในปี 2554 — 2555

2) มติที่ประชุม

มอบหมายให้ภาคเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) รับไปหารือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงานรับข้อเสนอความคิดเห็นต่อกฎกระทรวง ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ. 2550 ในการกำหนดอัตราการจ้างงานคนพิการของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาให้ความร่วมมือในการรับคนพิการเข้าทำงานเช่นเดียวกับภาคเอกชนด้วย 5.6 โครงการ “ทางรถไฟสายอันดามัน”

1) ข้อเสนอ

ขอให้ศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาเส้นทางรถไฟสายอันดามันเส้นทางภูเก็ต-กระบี่ เพื่อให้มีการกระจายนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตและกระบี่สู่เมืองท่องเที่ยวใกล้เคียงได้ และเป็นการกระจายความเจริญสู่ชุมชนและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้น

2) มติที่ประชุม

มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปเร่งรัดดำเนินการในเส้นทางที่ได้ทำการศึกษารายละเอียดไว้แล้ว และให้พิจารณาศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการขยายโครงข่ายระบบรางให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนและการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ด้วย

5.7 โครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อลดความสูญเสียจากกลุ่มอาการตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) และเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้ากุ้งทะเล

1) ข้อเสนอ

ขอให้สนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อลดความสูญเสียจากกลุ่มอาการตายด่วน (EMS) และเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้ากุ้งทะเล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลผลิตกุ้งทะเลกลับเข้าสู่สภาวะปกติ รวมทั้งสามารถรักษาระดับผลผลิตที่ 450,000 — 500,000 ตันต่อปี

2) มติที่ประชุม

มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับข้อเสนอโครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อลดความสูญเสียจากกลุ่มอาการตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) และเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้ากุ้งทะเลไปพิจารณาในการวางแนวทางในการบริหารจัดการโครงการให้มีความชัดเจน สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยเร็ว

5.8 กฎหมายป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐอเมริกา (Foreign Account Tax Compliance Act: FATCA)

1) ข้อเสนอ

ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการเรื่อง กฎหมายป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐอเมริกา (Foreign Account Tax Compliance Act: FATCA)

2) มติที่ประชุม

มอบหมายให้กระทรวงการคลังเร่งรัดการผลักดันกรอบเจรจา Intergovernmental Agreement (IGA) เรื่องกฎหมายป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐอเมริการะหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลไทยสามารถเจรจากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ต่อไป

5.9 มาตรการกระตุ้นการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2556

1) สศช. รายงานที่ประชุมว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานการประชุมคณะทำงานกำกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจได้มีการประชุมไปเมื่อวันพุธที่ 4 กันยายน 2556 เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2556 ซึ่งที่ประชุมมีมติมอบหมาย สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการจัดส่งมติที่ประชุมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับไปดำเนินการเพื่อกระตุ้นการส่งออกสินค้าในช่วงที่เหลือของปี 2556 ดังนี้

(1) มอบหมายกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมเจรจากับนักลงทุนรายใหญ่เพื่อกำหนดเงื่อนไขทางภาษีและการเงินที่จะชักจูงให้ผู้ประกอบการเพิ่มยอดการผลิตฮาร์ดดิสก์ในประเทศไทย และกำหนดมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนในการผลิตสินค้าทดแทนที่มีเทคโนโลยีล่าสุดในประเทศไทย

(2) มอบหมายกระทรวงพลังงานประสานงานกับผู้ผลิตน้ำมันเพื่อศึกษาและประมาณการกำลังการผลิตที่เหมาะสม โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออก

(3) มอบหมายกระทรวงพาณิชย์พิจารณาส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตของอุปสงค์น้ำตาล โดยเฉพาะอินเดีย แอลจีเรีย และมาเลเซีย

(4) มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแก้ไขปัญหาอ้อยและน้ำตาลในภาพรวมอย่างเป็นระบบ โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อศึกษาแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตอ้อย

(5) มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณายกเลิกการเก็บเงิน CESS เป็นการชั่วคราว และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการเพิ่มอุปสงค์ยางพารา ส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ และลดอุปทานยางพาราอย่างเป็นระบบให้สอดคล้องกัน รวมทั้งประสานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อหาแนวทางในการนำยางในสต็อกไปเพิ่มมูลค่า พร้อมทั้งมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ดำเนินกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจให้กับผู้ซื้อยางในประเทศ และมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมการแปรรูปยางแท่งและน้ำยางข้นเป็นยางแผ่นผสม

(6) มอบหมายกระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวในทุกช่องทางและเจรจาโดยตรงกับผู้ซื้อรายใหญ่ในต่างประเทศ รวมทั้งจัดทำข้าวถุงเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน

(7) มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำมาตรการลดต้นทุนการผลิตและส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพดีและปลอดสารพิษ รวมทั้งประสานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อศึกษาวิธีแปรรูปข้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

(8) มอบหมายกระทรวงพาณิชย์จัดทำ Virtual Business and Distribution Center ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ และจัดกิจกรรมการตลาด เช่น งานแสดงเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยตามจังหวัดชายแดนไทย และนำคณะผู้นำเข้ารายใหญ่ในจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเจรจากับผู้ส่งออกไทยในงาน RHVAC ที่มีกำหนดจะจัดงานในวันที่ 10 - 11 ตุลาคม 2556 พร้อมทั้งเจรจาขอนำรายการเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านออกจากขอบเขตรายการสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA Expansion)

(9) มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา และพิจารณาหามาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตที่เคยได้รับส่งเสริมการลงทุนไปในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

2) มติที่ประชุม

รับทราบและมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์รับไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อกระตุ้นการส่งออกสินค้าในช่วงที่เหลือของปี 2556 และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบตามขั้นตอนต่อไป

5.10 การพัฒนากำลังคนในระยะเร่งด่วนรองรับการลงทุนในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

1) สศช. รายงานที่ประชุมว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2556 นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการปฏิรูปการศึกษา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าส่วนราชการหลักในกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีประเด็นที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและข้อสั่งการที่มอบหมาย ดังนี้

(1) การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบต้องพิจารณาตามช่วงวัยโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและตอบสนองทิศทางการพัฒนาในอนาคต โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องยึดการพัฒนาคนตลอดวงจรชีวิตใน 5 ช่วงวัยตามที่ สศช. เสนอ และการผลิตและพัฒนากำลังคนต้องทราบความต้องการของสาขาและแนวทางในการเตรียมกำลังคน โดยในระยะสั้นควรพิจารณาในช่วงปีหน้า หรือ 3 เดือนข้างหน้า

(2) ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย

(2.1) ระยะสั้น ให้มีคณะทำงานโดยมอบ สศช. ประสานการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการผลิตกำลังคนในระยะเร่งด่วน

(2.2) ระยะกลาง ให้มีคณะทำงานโดยมอบ สศช. ประสานดำเนินงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณามาตรการและกลไกสร้างแรงจูงใจให้เรียนอาชีวศึกษาและเรียนในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ

(2.3) ระยะยาว เห็นชอบให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ โดยมอบกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมมาร่วมกันจัดทำข้อเสนอในการพัฒนา โดยยึดตามเป้าหมายพัฒนาคนตามช่วงวัย

(3) การดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ สศช. ได้เตรียมการประสานแจ้ง กกร. เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ เพื่อนำสรุปประเด็นและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในประเด็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการผลิตกำลังคนในระยะเร่งด่วนรองรับการลงทุนในสาขาที่จำเป็น และได้เตรียมการจัดตั้งคณะทำงาน 2 ชุด รองรับการดำเนินงานตามข้อสั่งการระยะเร่งด่วนและระยะกลางที่มอบหมาย สศช. เป็นแกนหลักประสานดำเนินงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ กกร. คือ คณะทำงานเตรียมความพร้อมกำลังคนในระยะเร่งด่วน รองรับการลงทุนในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยองค์ประกอบคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาคเอกชน 5 องค์กรหลักและที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทน สศช. กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเลขานุการร่วม มีขอบข่ายภารกิจ ดังนี้

(3.1) ประมวลวิเคราะห์ความต้องการกำลังคนรองรับการลงทุนในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนสาขาที่มีศักยภาพสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ

(3.2) วิเคราะห์สมรรถนะของอุปสงค์และอุปทานแรงงาน และจัดทำข้อเสนอการผลิตและพัฒนากำลังคนในระยะเร่งด่วน เสนอแนะมาตรการกำกับการผลิตกำลังคน และแนวทางการพัฒนาเพิ่มศักยภาพและทักษะที่จำเป็นแก่แรงงานและกำลังคนให้เพียงพอและตอบสนองความต้องการรองรับการลงทุนพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ สศช. จะประมวลความคืบหน้าการเตรียมรายละเอียดกรอบการดำเนินงานในด้านต่างๆ เพื่อกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณา และเริ่มประชุมคณะทำงานในแต่ละชุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ต่อไป

2) มติที่ประชุม มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงานร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาจัดทำแนวทางการพัฒนากำลังคนในระยะเร่งด่วนรองรับการขาดแคลนแรงงานและการลงทุนในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ