คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ วันที่ 10 กันยายน 2556 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินการ
1.1 จำนวนเกษตรกรและพื้นที่เป้าหมาย 1,137,663 ครัวเรือน มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรจำนวน 1,193,332 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 104.89
1.2 ผู้ที่มายื่นคำร้องบางส่วนมีเอกสารไม่ครบถ้วนอยู่ระหว่างการรอเอกสารเพิ่มเติม 72,970 ครัวเรือน และผู้ที่มีเอกสารครบถ้วน จำนวน 1,121,600 ครัวเรือน
1.3 จากเกษตรกรที่มาขอขึ้นทะเบียน 1,193,332 ครัวเรือน บันทึกข้อมูลลงระบบแล้ว 980,044 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 12.58 ล้านไร่ แยกเป็นผู้ที่พร้อมตรวจสอบแปลงได้ จำนวน 682,503 ครัวเรือน และผู้ที่ยังไม่สามารถตรวจสอบแปลงในขณะนี้ได้จำนวน 297,541 ครัวเรือน จากสาเหตุดังนี้
1.3.1 เกษตรกรที่มีพื้นที่นอกเอกสารสิทธิ์ 36,023 ราย พื้นที่ปลูก 449,033 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราที่อยู่นอกเหนือเอกสารสิทธิ์ของกรมป่าไม้ 46 ราย และเป็นพื้นที่เป็น ภบท. 5 ที่ไม่มีผู้รับรอง 40,322 ราย พื้นที่ปลูก 776,903 ไร่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้เริ่มส่งรายชื่อเกษตรกรและที่ตั้งแปลงให้กับกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแล้วตามหนังสือกรมส่งเสริมการเกษตรที่ กษ 1012/11419 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2556 และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงานดังกล่าว
1.3.2 เป็นสวนยางพาราที่มีอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่สามารถกรีดได้ 80,000 ครัวเรือน
1.3.3 เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนแต่ไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ 141,186 ครัวเรือน
1.4 สำหรับการตรวจแปลงขณะนี้กำลังตรวจสอบแปลงปลูก (ทุกแปลง) จำนวน 541,991 ครัวเรือน ตรวจสอบเสร็จแล้วและออกใบรับรองแล้ว จำนวน 56,083 ครัวเรือน 76,030 แปลง
1.5 เกษตรกรนำใบรับรองไปรับเงินที่ ธ.ก.ส. แล้ว จำนวน 23,665 ครัวเรือน 32,064 แปลง เป็นเงินที่ ธ.ก.ส. โอนให้เกษตรกรแล้ว 578,064,690 บาท
1.6 กำลังเร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมารับใบรับรองและเร่งการตรวจสอบแปลงให้เร็วขึ้น
2. ปัญหาและอุปสรรค
มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอีกส่วนหนึ่งซึ่งปลูกยางพาราในพื้นที่นอกเหนือเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิทำกินทั้ง 46 รายการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 และกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดและออกใบรับรองได้ ต้องรอการพิสูจน์สิทธิ์ทำกินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายใน 30 วันหลังการขึ้นทะเบียน
3. แนวทางแก้ไข
ให้นับเวลาการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ในกลุ่มที่ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ทำกินให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หลังจากได้รับแจ้งผลการพิสูจน์สิทธิ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556--จบ--