การจัดทำแผนเผชิญเหตุการณ์ป้องกันอันตรายและลดผลกระทบต่อประชาชนที่เกิดจากไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 5, 2013 16:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแผนเผชิญเหตุการณ์ป้องกันอันตรายและลดผลกระทบต่อประชาชนที่เกิดจากไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง ตามมติคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

สาระสำคัญของร่างแผนเผชิญเหตุการณ์ป้องกันอันตรายและลดผลกระทบต่อประชาชนที่เกิดจากไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. วัตถุประสงค์

1.1 เพื่อป้องกันอันตรายและลดผลกระทบต่อประชาชนที่เกิดจากไฟฟ้าดับบริเวณกว้างได้อย่างเร่งด่วนและทันต่อสถานการณ์

1.2 เพื่อมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบในการบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งชึ้น

1.3 เพื่อให้การช่วยเหลือ การประสานงาน และการประชาสัมพันธ์ ต่อประชาชนและสื่อมวลชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ ตลอดจนการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อผู้บังคับบัญชาทุกระดับ

1.4 เพื่อให้การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน ในการป้องกันอันตรายและลดผลกระทบต่อประชาชน ที่เกิดจากไฟฟ้าดับบริเวณกว้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2. องค์กรปฏิบัติ

2.1 หน่วยงานหลักด้านไฟฟ้าที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กระทรวงพลังงาน (พน.)

3.2 หน่วยงานหลักในการเผชิญเหตุและหน่วยงานสนับสนุนที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

3. ขั้นตอนการปฏิบัติ ประกอบด้วย

1) ขั้นเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไฟฟ้าดับ

2) ขั้นปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน ให้ปฏิบัติการในระยะ 1-15 นาทีแรก , ระยะ 15-30 นาที , ระยะ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงขึ้นไป รวมทั้งการยุติสถานการณ์ และขั้นปฏิบัติการหลังเกิดไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤศจิกายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ