ระหว่างประเทศ (International Anti — Corruption Commission : IACA) ครั้งที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อจัดทำความตกลงในการเป็นประเทศเจ้าภาพของ International Anti — Corruption Commission (IACA) และร่างหนังสือตอบรับของฝ่ายไทย
2. อนุมัติให้ผู้แทนไทยประจำ IACA เป็นผู้ลงนามในหนังสือตอบรับของฝ่ายไทย
3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขความตกลงในการเป็นประเทศเจ้าภาพฯ ดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ป.ป.ช. รายงานว่า
1. ตามมติคณะรัฐมนตรี (วันที่ 4 เมษายน 2554) ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารมีผลทำให้มีสถานะเป็นภาคีความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 และในวโรกาสที่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐออสเตรีย ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. เข้าร่วมการประชุมสมัชชาแห่งภาคี IACA ครั้งที่ 1 (1st Session of IAC’s Assembly of Parties) เมื่อวันที่ 29 — 30 พฤศจิกายน 2555 ที่ประชุมฯ มีมติแต่งตั้งให้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการสมัชชาใหญ่ (Bureau of the Assembly of Parties) และเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมสมัชชาแห่งภาคี IACA ครั้งที่ 2 ตามที่ประเทศไทยเสนอ
2. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 427 — 85/2555 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 มีมติมอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาภาคีแห่งภาคี IACA ครั้งที่ 2 และในการประชุมครั้งที่ 450 — 15/2556 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 มีมติเห็นชอบให้มีการจัดการประชุมสมัชชาแห่งภาคี IACA ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9 — 11 ธันวาคม 2556 ตามที่ IACA เสนอ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร (United Nation Conference Center)
3. ในการดำเนินการเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวมีความจำเป็นต้องจัดทำความตกลงในการเป็นประเทศเจ้าภาพ (Host Country Agreement) ระหว่างประเทศไทยและ IACA ขึ้นด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างกัน (Exchange of letters) โดยมีสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่อง และในการติดต่อประสานงาน และดำเนินการจัดการประชุมฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทย ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการเจรจารายละเอียดของความตกลงฯ เรียบร้อยแล้ว โดย IACA ได้มีหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อจัดทำความตกลงในการเป็นประเทศเจ้าภาพกราบทูลพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาในฐานะเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐออสเตรีย และผู้แทนไทยประจำ IACA ด้วยแล้ว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556--จบ--