คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย) ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2556 วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ประธานกรรมการเสนอ ที่มีมติเห็นชอบร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ.
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการดำเนินการทางวินัย ตามมาตรา 94 มาตรา 95 มาตรา 96 มาตรา 97 มาตรา 101 และมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แบ่งออกเป็น 10 หมวด และมีบทเฉพาะกาลในตอนท้าย รวมทั้งสิ้น 98 ข้อ ดังนี้
1. หมวด 1 การดำเนินการเมื่อมีการกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ามีการกระทำผิดวินัย
กำหนดการกล่าวหาข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีพฤติการณ์กระทำผิดวินัย โดยผู้พบเห็นสามารถกล่าวหาเป็นหนังสือหรือกล่าวหาด้วยวาจาก็ได้ และจำแนกกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยไว้ว่าอาจเป็นกรณีที่ผู้บังคับบัญชาพบเห็นการกระทำนั้นเอง หรือมีการร้องเรียนเป็นบัตรสนเท่ห์
นอกจากนี้ ได้กำหนดวิธีการรายงานเรื่องร้องเรียนกล่าวหาโดยผู้บังคับบัญชาระดับต้นไว้ว่าต้องรายงานเป็นหนังสือไปยังผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57
2. หมวด 2 การสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้น
กำหนดวิธีการสืบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยหรือไม่ และหากพยานหลักฐานที่ปรากฏตามเรื่องร้องเรียนกล่าวหาชัดเจนแล้ว ก็สามารถดำเนินการทางวินัยตามหมวด 3 หรือหมวด 4 แล้วแต่กรณีต่อไป หรือหากพิจารณาเห็นว่ากรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาก็ให้ยุติเรื่องได้
3. หมวด 3 การดำเนินการในกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
กำหนดกรณีที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 เห็นว่า กรณีมีมูลที่ผู้บังคับบัญชาควรกล่าวหาผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาอาจดำเนินการสอบสวนเองหรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยก็ได้ แต่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา อีกทั้งยังได้กำหนดระยะเวลาเร่งรัดในการสอบสวนด้วย
4. หมวด 4 การดำเนินการในกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
การดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติให้ต้องดำเนินการโดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและรับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหา และหากผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนหรือผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าเป็นกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก็จะต้องส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. สามัญ อันได้แก่ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณา โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการสอบสวน มีรายละเอียด ดังนี้
4.1 กำหนดเพิ่มเติมให้แต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการจากลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการก็ได้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านวินัย
4.2 กำหนดระยะเวลาเร่งรัดการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน และขยายได้ไม่เกินครั้งละ 60 วัน
4.3 ยกเลิกขั้นตอนการแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหา (สว.2) เพื่อย่นระยะเวลาการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยได้นำเอาหลักการของการแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหา (สว.2) ดังกล่าว มารวมไว้ในขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา
4.4 การสอบปากคำพยาน มีการกำหนดเพิ่มเติมในกรณีที่กรรมการสอบสวนทั้งหมด มีกึ่งหนึ่งมากกว่า 3 คน ก็ให้กรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่าสามคนสามารถทำการสอบปากคำพยานได้
4.5 การให้สิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาในการนำที่ปรึกษาหรือทนายความเข้าร่วมในขั้นตอนการสอบสวนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเข้าพบคณะกรรมการสอบสวน
นอกจากนี้ ในหมวดนี้ได้กำหนดผู้มีอำนาจสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในกรณีข้าราชการตำแหน่งต่างกัน ต่างกรม หรือต่างกระทรวงกัน ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร่วมกันตามมาตรา 94 (4) ด้วย
5. หมวด 5 กรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง
กำหนดกรณีที่จะดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องสอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้ โดยกำหนดแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และกรณีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
6. หมวด 6 การสั่งยุติเรื่อง ลงโทษ หรืองดโทษ
กำหนดอำนาจในการสั่งลงโทษทางวินัยของผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 และกำหนดวิธีการในการสั่งยุติเรื่อง ลงโทษ หรืองดโทษ โดยกำหนดอัตราโทษตัดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน ร้อยละ 2 หรือร้อยละ 4 ของเงินเดือนผู้ถูกลงโทษ เป็นเวลา 1 เดือน 2 เดือน หรือ 3 เดือน หรือลดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งไม่เกินร้อยละ 2 หรือร้อยละ 4 ของเงินเดือนผู้ถูกลงโทษ
นอกจากนี้ได้กำหนดวิธีการแจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกลงโทษรับทราบคำสั่ง ตลอดจนการแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค.
7. หมวด 7 การมีคำสั่งใหม่กรณีมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ งดโทษ หรือยกโทษ
การดำเนินการในหมวดนี้ เป็นการสั่งตามมติหรือวินิจฉัยของ อ.ก.พ. กระทรวง ก.พ. ก.พ.ค. หรือองค์กรตามกฎหมายอื่น แล้วแต่กรณี ที่มีมติหรือมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มโทษ ลดโทษ งดโทษ หรือยกโทษ โดยปรับหลักการใหม่ในส่วนที่ผู้สั่งต้องมีคำสั่งใหม่ และในคำสั่งดังกล่าวให้สั่งยกเลิกคำสั่งลงโทษเดิม พร้อมทั้งระบุวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับโทษที่ได้รับไปแล้วด้วย
8. หมวด 8 การสั่งพักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับเหตุแห่งการสั่ง วิธีการสั่ง วันที่คำสั่งมีผล การร้องทุกข์ และการสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่หรือกลับเข้ารับราชการ
9. หมวด 9 ระยะเวลา
กำหนดการนับระยะเวลาการดำเนินการตามกฎ ก.พ. นี้ ให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
10. หมวด 10 บทเบ็ดเตล็ด
กำหนดแนวทางแก้ไขกรณีมีปัญหาที่ไม่อาจนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาตามกฎ ก.พ. นี้ มาใช้บังคับได้ ให้ ก.พ. มีอำนาจพิจารณาและกำหนดการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวได้
11. บทเฉพาะกาล
กำหนดกรณีการดำเนินการทางวินัยที่ยังไม่แล้วเสร็จ และกฎ ก.พ. นี้ประกาศใช้บังคับแล้ว โดยให้ดำเนินการตามกฎหมายนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จ ส่วนกระบวนการพิจารณาในขั้นตอนต่อไป ให้ปฏิบัติตามกฎ ก.พ. นี้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556--จบ--