ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. โดยที่รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือการครองชีพข้าราชการระดับต้นและลูกจ้างประจำ ด้วยการปรับเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาทำให้ผู้มีคุณวุฒิระดับปริญญาตรีได้รับเงินเดือนแรกบรรจุรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวแล้วมีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 15,000 บาท ประกอบกับได้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นวันละ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 และประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555
2. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้มีการปรับเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ทำให้ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญผู้มีรายได้น้อยได้มีหนังสือร้องเรียนเพื่อขอให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือโดยการปรับเพิ่มให้สูงขึ้นเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนด้านการครองชีพให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ
3. การปรับเพิ่ม ช.ค.บ. แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ซึ่งได้รับเบี้ยหวัดบำนาญรายเดือนต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท ให้มีรายได้ต่อเดือนในจำนวนที่เหมาะสม จะต้องใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลางเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 1,506.7 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถให้ความช่วยเหลือด้านการครองชีพแก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญได้ประมาณ 59,113 ราย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติ บำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ บำนาญพิเศษ หรือบำนาญตกทอดในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ถ้าได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญรวมกันทุกประเภทซึ่งรวมกับ ช.ค.บ. แล้ว มีจำนวนต่ำกว่าเดือนละเก้าพันบาท ให้ได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มอีก ในอัตราเดือนละเท่ากับส่วนต่างของจำนวนเงินเก้าพันบาทหักด้วยจำนวนรวมของเบี้ยหวัดหรือบำนาญทุกประเภทและ ช.ค.บ. ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556--จบ--