การรับรองร่างปฏิญญาลิมาว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและครอบคลุม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 25, 2013 16:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาลิมาว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและครอบคลุม

2. อนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยหรือผู้แทน ที่เข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization- UNIDO) ให้การรับรองร่างปฏิญญาลิมาว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและครอบคลุม

3. หากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของร่างปฏิญญาลิมาว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและครอบคลุม ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศ ก่อนที่จะมีการรับรองเอกสารดังกล่าว ให้คณะผู้แทนไทยสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญ

ร่างปฏิญญาลิมาว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและครอบคลุม มีสาระสำคัญดังนี้

1. ตั้งแต่การรับรองปฏิญญาลิมา (Lima Declaration) ในปี ค.ศ. 1975 ซึ่งมีหลักการว่าอุตสาหกรรม (Industrialization) เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา เพิ่มผลิตภาพ สร้างงานและรายได้ ซึ่งนำไปสู่การขจัดความยากจนและสร้างโอกาสในการเข้าร่วมทางสังคม ต่อมาได้มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ซึ่ง UNIDO ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินการของประเทศสมาชิกเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย MDGs ดังกล่าว และได้ก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด สำหรับวาระการพัฒนาภายหลังปี พ.ศ. 2558 (Post 2015 Development Agenda) นั้น ประชาคมโลกควรให้คำมั่นที่จะสนับสนุนการขจัดความยากจนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

2. ประเทศสมาชิก UNIDO จะส่งเสริมให้มีการจัดทำเป้าหมายสากลในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในวาระการพัฒนาภายหลังปี พ.ศ. 2558 (Post 2015 Development Agenda) รวมทั้งการส่งเสริมให้ UNIDO เข้าไปมีบทบาทร่วมในการจัดทำวาระการพัฒนาภายหลังปี พ.ศ. 2558 ของสหประชาชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการบรรจุประเด็นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและครอบคลุมไว้ในวาระการพัฒนาดังกล่าว

3. UNIDO มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค การฝึกอบรม การเสนอแนะนโยบายและข้อแนะนำ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้และการปฏิบัติการที่เป็นเลิศให้แก่บรรดาประเทศสมาชิก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและครอบคลุมดังกล่าว

4. ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุผลในการพัฒนาอุตสาหกรรม การประกาศปฏิญญาลิมาในปี ค.ศ. 1975 เป็นการสร้างกลไกการให้คำปรึกษาระดับโลกในระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับประเทศต่าง ๆ ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และสร้างหุ้นส่วนใหม่ที่มีความหลากหลาย

5. เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกให้ความมั่นใจว่า UNIDO จะมีงบประมาณเพียงพอสำหรับการดำเนินงาน โดยขอให้ประเทศสมาชิกชำระค่าบำรุงองค์การฯ ทั้งหมดและตามกำหนดเวลา รวมทั้งพิจารณาบริจาคเงินโดยสมัครใจให้กับ UNIDO เพื่อให้สมดุลกับขีดความสามารถและการปฏิบัติงานของ UNIDO ที่เพิ่มขึ้น โดยพิจารณาจากความต้องการของประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือและประเทศผู้รับความช่วยเหลือเป็นสำคัญ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ