การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนากฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน

ข่าวการเมือง Wednesday December 4, 2013 06:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนากฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน

2. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำกรอบแนวทางการพัฒนากฎหมาย 3 ด้านที่ ยธ. เสนอ ไปใช้เป็นแนวทางการปฏิรูปกฎหมายในกรอบยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy)

3. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) พิจารณาจัดช่องทางพิเศษสำหรับการพิจารณาและผลักดันร่างกฎหมายทั้งในกรอบของรัฐบาลและกรอบของรัฐสภา โดยในกรอบของรัฐบาลควรจัดช่องทางพิเศษสำหรับร่างกฎหมายที่จะได้รับการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และขอความร่วมมือให้มีการพิจารณาโดยคณะพิเศษของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ร่างกฎหมายผ่านไปตามวัตถุประสงค์และทันตามระยะเวลาที่กำหนด และพิจารณาแนวทางร่วมมือเพื่อให้รัฐสภากำหนดเป็นวาระเร่งด่วน และจัดกลไกเฉพาะในการดูแลให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายตามแผนงานโดยเร็ว

สาระสำคัญของกรอบแนวทางการพัฒนากฎหมายที่ประกอบด้วยการดำเนินงานใน 3 ด้าน ดังนี้

กรอบที่ 1 การพัฒนากฎหมายที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการประกอบธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันอันเป็นการทั่วไป มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนากฎหมายอันมีลักษณะเป็นการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นการทั่วไป

กรอบที่ 2 การพัฒนากฎหมายเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มธุรกิจ / อุตสาหกรรมเป้าหมาน เป็นกฎหมาย / ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายจากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการพัฒนากฎหมายส่งเสริมการค้าการลงทุนและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมรายสาขา ตามกรอบยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) และข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

กรอบที่ 3 การพัฒนาองคาพยพ / ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง รวมถึงส่งเสริมให้กฎหมายของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และได้ดำเนินการผลักดันการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามกรอบดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในส่วนที่ ยธ. รับผิดชอบ

คณะกรรมการนโยบายพัฒนากฎหมานเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและเสริมสร้าง ความสามารถในการแข่งขัน มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้

องค์ประกอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็น รองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย อธิบดีกรมอาเซียน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ประธานสมาคมธนาคารไทยหรือผู้แทน ศาสตราจารย์กำชัย จงจักรพันธ์ ศาสตราจารย์ศักดา ธนิตกุล รองศาสตราจารย์ธวัชชัย สุวรรณพานิช รองศาสตราจารย์สุธรรม อยู่ในธรรม นายคณิศ แสงสุพรรณ นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายอวยชัย คูหากาญจน์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ เป็น กรรมการและเลขานุการ นายวัลลภ นาคบัว และเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

อำนาจหน้าที่

1. จัดทำแผนพัฒนากฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ แนวโน้มและพัฒนาของกฎหมายระหว่างประเทศในกรอบของประชาคมอาเซียนหรือสหประชาชาติโดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

2. เสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ รวมทั้งการจัดให้มีกฎหมายหรือกฎระเบียบขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซ๊ยนและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน

3. ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินงานพัฒนากฎหมายตามแผนพัฒนากฎหมาย เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อจัดทำรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานทุกรอบหกเดือนและรายงานสรุปผลเมื่อสิ้นสุดภารกิจต่อคณะรัฐมนตรี

4. ขอให้ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐจัดส่งเอกสาร ข้อเท้จจริง หรือความเห็นตลอจนขอให้ผู้แทนหน่วยงานของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้น

5. แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน หรือมอบหมายหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบการปฏิบัติงาน ธุรการ งานวิชาการ งานประชุม และงานเลขานุการของคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่แต่งตัวขึ้น

6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 ธันวาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ