วานนี้ เวลา 09.00 น. ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ ร้อยโทหญิง สุณิสา เลิศภควัต และนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุมฯ ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมได้มีการรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ซึ่งได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกาเล่ม 130 ตอนที่ 115 ก วันที่ 9 ธันวาคม 2556
2. เห็นชอบแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร และมอบหมายให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางปฎิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร และให้แจ้งหน่วยงานต่าง ๆ ทราบและถือปฏิบัติต่อไป ดังนี้
1. ด้านนิติบัญญัติ
1.1 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงทันทีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับและต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
1.2 เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะคำนวณถึงก่อนวันยุบสภาผู้แทนราษฎร 1 วัน
1.3 จะมีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย) และพระราชกฤษฎีกาได้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
1.4 กระทู้ถามและญัตติทั้งหมดตกไป
1.5 กรรมาธิการสามัญและกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากตำแหน่ง
1.6 ร่างพระราชบัญญัติที่ทั้ง 2 สภาเห็นชอบแล้วและส่งให้รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวาย ไม่ตกไป ดำเนินการต่อได้
1.7 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือบรรดาร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยหรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมาตกไป
1.8 ร่างพระราชบัญญัติที่ค้างอยู่ในวาระที่ 1 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ไม่ว่าในชั้นสภาใด ให้ชะลอไว้ก่อน เมื่อตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้วและคณะรัฐมนตรีร้องขอต่อรัฐสภาภายใน 60 วันนับแต่วันเปิดสภา ให้ยกขึ้นพิจารณาต่อได้
1.9 วุฒิสภายังไม่สิ้นสุด แต่จะประชุมไม่ได้ เว้นแต่ประชุมเพื่อเห็นชอบการแต่งตั้ง – ถอดถอนบุคคลบางตำแหน่ง (มาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)(รับเงินเดือนได้)
1.10 คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อื่นของคณะกรรมาธิการนั้น ๆ หรือตามที่วุฒิสภามอบหมาย และเชิญผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ไปชี้แจงข้อมูลได้ (ข้อ 98 ของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551)
2. คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
2.1 สถานะของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
(1) คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (ไม่เรียกว่า รักษาการ และได้เงินเดือนแต่ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน)(มาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)
(2) คณะรัฐมนตรียังคงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีมีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ ย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศมาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก เป็นต้น
(3) การลงชื่อตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิม มิใช่เป็นการรักษาการหรือรักษาการในตำแหน่ง
(4) นายกรัฐมนตรีจะปรับรัฐมนตรีออก หรือรัฐมนตรี จะลาออกก็กระทำได้ แต่ไม่ควรแต่งตั้งแทน
2.2 การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
(1) การประชุมคณะรัฐมนตรี
(1.1) คณะรัฐมนตรีประชุมต่อไปได้ตามปกติจนกว่าจะมีบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาจัดเฉพาะระเบียบวาระที่เป็นไปตามปกติปฎิบัติ
(1.2) สำหรับเรื่องใดที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะกลั่นกรองไว้ชั้นหนึ่งก่อน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเพื่อมีมติหรือมีคำสั่งให้เสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป
(2) การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 181 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)
(2.1) ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนังงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(2.2) การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในการแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่ถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและต้องเป็นไปเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ รักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
การใช้อำนาจตาม (2.2) ให้หมายความรวมถึงกรณีที่มีกฎหมายหรือกฎกำหนดเป็นเงื่อนไขให้การแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนนั้น มีผลต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้รับทราบ อนุญาต อนุมัติ เห็นชอบ หรือการดำเนินการอื่นที่มีผลลักษณะเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงกรณีการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการหรือกรรมการในคณะกรรมการตามที่กฎหมายกำหนดที่มีผลลักษณะเดียวกันด้วย
(2.3) เมื่อมีกรณีที่ต้องขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตาม (2.2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(ก) จัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง โยกย้าย การให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน
(ข) ประวัติย่อของบุคคลดังกล่าว
(ค) จัดทำสรุปสาระสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกระบวนการ เหตุผลในการพิจารณา รวมทั้งเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้อำนาจในระหว่างเวลาดังกล่าว
ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้การแต่งตั้งโยกย้าย การให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนเป็นอำนาจของรัฐมนตรีโดยเฉพาะ ให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง แต่ถ้ากฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการ
(2.4) ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หน่วยงานต้นสังกัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือในการส่งผู้แทนไปชี้แจง หรือส่งข้อมูลเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งร้องขอ
(3) การอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (มาตรา 181 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)
(3.1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(3.2) การกระทำอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น ต้องเป็นไปเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ รักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ราชการหรือเป็นการบรรเทาภัยพิบัติแก่ประชาชน และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
การดำเนินการตาม (3.2) จะกระทำได้แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอื่น ที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณนอกเหนือจากที่ได้รับจากจัดสรร หรือที่ได้รับการจัดสรรไปแล้ว แต่ไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องของบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
(3.3) เมื่อมีกรณีที่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตาม (3.2) ให้สำนักงบประมาณรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เหตุผลและความจำเป็นในการขอใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณรายจ่ายดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(3.4) ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ หน่วยงานต้นสังกัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือในการส่งผู้แทนไปชี้แจง หรือส่งข้อมูลเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณา ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งร้องขอ
(4) การอนุมัติงานหรือโครงการ (มาตรา 181 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)
(4.1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
(4.2) การกระทำใด ๆ ที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะกระทำมิได้ เช่น การกำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติที่มีผลต้องดำเนินการต่อเนื่อง
(5) การใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ (มาตรา 181 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)
(5.1) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใด ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้าม ตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ดังนั้น ถ้าเป็นการดำเนินการในการปฏิบัติราชการปกติ ซึ่งไม่มีผลต่อการเลือกตั้งก็ยังคงดำเนินการได้
(5.2) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งและสร้างโอกาสให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเลือกตั้งด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
(ก) ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐโดยการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที
(ข) จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ นอกเหนือจากการประชุมตามปกติ และมีการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ
(ค) กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการประชุมอบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐหรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐหรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการประชุมตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน และต้องแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว
(ง) กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการอนุมัติ โอน หรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่หรือให้หน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ทำการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน และต้องแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว
(จ) กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการแจกจ่ายหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐ ให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ หรือประชาชน และต้องแจงให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว
(ฉ) ใช้พัสดุหรือเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือใช้บุคลากรของรัฐปฏิบัติงาน
(ช) ใช้ทรัพยการของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
(6) การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
(6.1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550
(ก) มาตรา 68 บัญญัติห้ามมิให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองอื่นใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยตนเอง
(ข) มาตรการ 89 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ แก่บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล เว้นแต่เป็นการให้ตามปกติประเพณี ทั้งนี้ ตามจำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
(6.2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53 บัญญัติห้ามมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ใดจัดทำ ให้ เสนอ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่บุคคลใด ชุมชน สมาคม สถาบันการศึกษาหรือสถาบันอื่นใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
(7) การออกกฎหมาย
(7.1) การเสนอร่างกฎหมายใหม่โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติซึ่งเป็นเรื่องในทางนโยบาย ไม่สมควรดำเนินการเสนอในระหว่างยุบสภา ส่วนร่างพระราชกฤษฎีกา ร่างกฎกระทรวง ร่างระเบียบ และร่างอนุบัญญัติอื่นซึ่งเป็นการกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ ย่อมดำเนินการได้ตามปกติ
(7.2) ร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหลักการและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติจะดำเนินการต่อไปไม่ได้ เพราะยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องรอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร
ถ้าเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา ร่างกฎกระทรวง ร่างระเบียบ หรือร่างอนุบัญญัติอื่นซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่จะดำเนินการเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไปนั้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการไว้ก่อนที่จะมีการยุบสภา ดังนั้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ก็สามารถดำเนินการเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไปได้
(8) การแต่งตั้งคณะกรรมการ
การแต่งตั้งคณะกรรมการตามกฎหมาย ซึ่งอาจมีตำแหน่งว่างลงในระหว่างการยุบสภาจะกระทำมิได้ เนื่องจากการแต่งตั้งบุคคลใดเป็นกรรมการ ย่อมมีผลเป็นการผูกพันต่อเนื่องไปถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
(9) การปฏิบัติเรื่องอื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี
(9.1) นับแต่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง การแต่งตั้ง (โยกย้าย) ข้าราชการ พนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทและทุกระดับ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้พิจารณาเท่าที่จำเป็น รวมทั้งไม่ควรจัดให้มีการฝึกอบรมหรือประชุมสัมมนาในช่วงระยะเวลาประมาณ 10 วันก่อนวันเลือกตั้ง เพราะอาจกระทบต่ออัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องปฏิบัติงานการเลือกตั้ง
(9.2) การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของรัฐมนตรี ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีการได้รับเชิญไปสัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ในฐานะของตำแหน่งรัฐมนตรี จะให้สัมภาษณ์ได้เฉพาะหน้าที่รัฐมนตรีเท่านั้น แต่บางครั้งสื่อมวลชนอาจมีคำถามในฐานะสมาชิกพรรคการเมืองที่จะทำให้คำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีเป็นการให้คุณต่อพรรคการเมืองของตน ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีกับสื่อของรัฐโดยมิชอบได้ แต่หากเป็นการเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรคไปสัมภาษณ์ในลักษณะเท่าเทียมกันก็เป็นความรับผิดชอบของสื่อมวลชนนั้นๆ ไป
(10) การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยให้ความเห็นว่า กรณีรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ให้ถือวันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นวันพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนี้
(10.1) กรณีรัฐมนตรีมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 30 วันนับแต่วันพ้นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (วันที่ยุบสภาผู้แทนราษฎร) และต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอีกครั้งภายใน 30 วันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี (วันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ)
(10.2) กรณีรัฐมนตรีไม่มีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 30 วันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี (วันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ) และทั้ง 2 กรณี จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอีกครั้งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว 1 ปี
(11) การผลัดเวรเฝ้าฯ ให้ปฏิบัติตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจัดไว้ตามปกติ
สถานะข้าราชการการเมืองอื่น
คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยเมื่อเดือนธันวาคม 2533 ไว้ว่าสถานะข้าราชการการเมืองอื่น ๆ เช่น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และพ้นจากตำแหน่งพร้อมกับการสิ้นสุดการอยู่ในตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้แต่งตั้ง แต่ต้องไม่เกินกว่าที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือปฏิบัติ ดังนี้
1. กำชับข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ในสังกัดทุกประเภท ทุกระดับ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2539 [ เรื่อง การปรับปรุง แก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้ง (แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0216/ว 141 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2539)] โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะการให้ความร่วมมือช่วยเหลือและสนับสนุน การดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง รวมทั้ง การวางตัวเป็นกลางของข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทและทุกระดับดังกล่าวด้วย
2. เห็นชอบในหลักการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถนำงบประมาณมาสนับสนุนการเลือกตั้งได้ โดย
2.1 กรณีเป็นการดำเนินการใด ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาดำเนินการไปได้ตามความเหมาะสม
2.2 กรณีเป็นการดำเนินการใด ๆ ที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้แต่ละหน่วยงานเสนอขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ ก่อนดำเนินการต่อไป
3. เห็นชอบให้กระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าว ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2550 [เรื่อง สรุปผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมารการเลือกตั้ง (แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0506/ว 147 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2550)]
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 ธันวาคม 2556--จบ--