การขยายระยะเวลาโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ข่าวการเมือง Wednesday December 25, 2013 13:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Soft Loan) ออกไปอีก 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 วงเงินรวม 25,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินโครงการต่อไป โดยใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดิมตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553

2. อนุมัติงบประมาณในการชดเชยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสินตามหลักเกณฑ์เดิม คือ คำนวณจากต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 12 เดือนของธนาคารออมสิน บวก ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ร้อยละ 0.98) หัก ผลตอบแทนที่ได้รับจากการให้สถาบันการเงินกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ย 12 เดือนของธนาคารออมสิน อยู่ที่ร้อยละ 3 รวมเป็นวงเงินที่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาลประมาณ 992.50 ล้านบาท ทั้งนี้ให้เบิกจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า

1. โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ในรูปแบบสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน โดยในช่วงปี 2548 - 2553 ดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยรัฐบาลไม่ต้องชดเชยแต่อย่างใด สำหรับในช่วงปี 2553 - 2556 ดำเนินการโดยธนาคารออมสิน ซึ่งรัฐบาลมีภาระต้องชดเชยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปเพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบกิจการเพื่อการสนับสนุนให้เกิดการค้าการลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และป้องกันการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชากรบางส่วน

2. สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังมีความต้องการให้ภาครัฐขยายระยะเวลาโครงการฯ ออกไปหากยุติโครงการตามที่กำหนดไว้ในปี 2556 สถาบันการเงินก็จะต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าหรือชะลอการให้สินเชื่อในกรณีที่สถาบันการเงินไม่สามารถรับความเสี่ยงดังกล่าวได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการกิจการในพื้นที่ดังกล่าว

3. สภาอุตสาหกรรมและหอการค้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันว่า หากไม่มีการขยายระยะเวลาโครงการฯ ผู้ประกอบกิจการจะต้องกลับไปใช้สินเชื่อในอัตราปกติ (ร้อยละ 10 หรือมากว่า) ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงัน ในด้านการค้าและการลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นใจ ต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

4. หากคณะรัฐมนตรีไม่มีมติอนุมัติให้ขยายระยะเวลาโครงการและอนุมัติงบประมาณในการชดเชยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารออมสิน ธนาคารออมสินมีความจำเป็นที่จะต้องขอคืนต้นเงินจำนวน 25,000 ล้านบาท ที่ให้กู้กับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการในการหาสภาพคล่องเพื่อรองรับเม็ดเงินที่ถูกดึงกลับในสิ้นปี 2556 นี้

5. เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กค. จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557- วันที่ 31 ธันวาคม 2557

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ธันวาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ