คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2556 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ทก.รายงานว่า ประเทศไทยจัดทำสำมะโนการเกษตรมาแล้ว 5 ครั้ง โดยจัดทำทุก 10 ปี ตามข้อเสนอแนะขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2556 เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรที่สำคัญและแสดงภาพการทำการเกษตรของประเทศได้ถึงระดับพื้นที่ย่อย และทราบถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านการเกษตรในรอบ 10 ปี เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายวางแผนและติดตามประเมินผลการพัฒนาด้านการเกษตรทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ซึ่งการทำสำมะโนการเกษตรครั้งนี้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการส่งอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านประมาณ 15,000 คน และเจ้าหน้าที่ที่กรมส่งเสริมการเกษตร 3,000 คน ออกสัมภาษณ์ผู้ถือครองทำการเกษตรทุกคนทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคม 2556 โดยใช้คอมพิวเตอร์พกพาขนาดกลาง (Tablet) ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและสรุปผลได้ดังนี้
1. ผู้ถือครองและเนื้อที่ถือครองทำการเกษตร
1.1 ประเทศไทยมีผู้ถือครองทำการเกษตรทั้งสิ้น ณ วันสำมะโน (1 พฤษภาคม 2556) จำนวน 5.9 ล้านราย (ร้อยละ 25.9 ของครัวเรือนทั้งประเทศ) มีเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรทั้งสิ้น 114.6 ล้านไร่ (เฉลี่ย 19.4 ไร่ต่อราย) ซึ่งผู้ถือครองและเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ 1.7
1.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ถือครองและเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรมากที่สุด คือ 2.8 ล้านราย (ร้อยละ 46.5) และ53.5ล้านไร่ (ร้อยละ 46.7) ตามลำดับ และภาคกลางมีผู้ถือครองทำการเกษตรน้อยที่สุด 0.8 ล้านราย (ร้อยละ 14.3) และมีเนื้อที่ถือครอง 19.2 ล้านไร่ (ร้อยละ 16.8)
2. จังหวัดที่มีจำนวนผู้ถือครองทำการเกษตรสูงสุด 10 อันดับแรก
จังหวัดที่มีจำนวนผู้ถือครองทำการเกษตรสูงสุด 10 ลำดับ คือ นครราชสีมา อุบลราชธานี และศรีสะเกษ โดย 3 จังหวัดแรกมีผู้ถือครองทำการเกษตรเกิน 2 แสนราย (2.60 2.29 2.03 แสนราย ตามลำดับ) รองลงมาคือ ขอนแก่น (1.98 แสนราย) นครศรีธรรมราช (1.92 แสนราย) สุรินทร์ (1.87 แสนราย) ร้อยเอ็ด (1.81 แสนราย) สกลนคร (1.78 แสนราย) บุรีรัมย์ (1.76 แสนราย) และอุดรธานี (1.57 แสนราย) ตามลำดับ
3. ลักษณะการทำการเกษตร
ผู้ถือครองทำการเกษตรส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกพืช (ร้อยละ96.4) ซึ่งในจำนวนนี้ (ร้อยละ 19.9) มีการทำการเกษตรประเภทอื่นร่วมด้วย เช่น เลี้ยงปศุสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด หรือทำนาเกลือสมุทร
4. เนื้อที่ถือครองทำการเกษตร จำแนกตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน
เนื้อที่ถือครองทำการเกษตรของประเทศไทยเกินกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 51.3) เป็นที่ปลูกข้าว รองลงมาคือที่ปลูกพืชไร่ (ร้อยละ 22.3) ที่ปลูกยางพารา (ร้อยละ 14.6) ที่ปลูกพืชยืนต้น/ไม้ผล/สวนป่า (ร้อยละ 8.5) และที่ปลูกพืชผัก สมุนไพร และไม้ดอก ไม้ประดับ (ร้อยละ 0.8)
5. ผู้ถือครองที่ปลูกข้าว และเนื้อที่เพาะปลูกข้าว
ในปี 2546 -2556 จำนวนผู้ถือครองทำการเกษตรที่ปลูกข้าวลดลงจาก 4.0 เหลือ 3.8 ล้านราย ในขณะที่เนื้อที่เพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้นจาก 68.4 เป็น 72.8 ล้านไร่ โดยเพิ่มขึ้นมากที่ข้าวนาปรัง (จากร้อยละ 10.9 เป็นร้อยละ 16.2)
6. ผู้ถือครองที่ปลูกยางพารา และเนื้อที่เพาะปลูกยางพารา
ในปี 2546 -2556 จำนวนผู้ถือครองที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น จาก 6.1 เป็น 11.6 แสนราย และเนื้อที่เพาะปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นจาก 9.6 เป็น 16.3 ล้านไร่ โดยพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคใต้ (9.5 ล้านไร่) และมีข้อสังเกตว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นเกือบ 7เท่า (จาก 0.2 เป็น 4.3 ล้านไร่)
7. การศึกษาของผู้ถือครองทำการเกษตร ในปี 2546-2556 ผู้ถือครองทำการเกษตรส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงขึ้น คือผู้ถือครองฯที่สำเร็จระดับมัธยมศึกษามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.3 เป็นร้อยละ 16.5 ระดับปริญญาตรี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.2 เป็นร้อยละ 2.7 และปวช. / ปวส. ฯ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.6 เป็นร้อยละ 2.8 ตามลำดับ
8. รายได้จากผลผลิตทางการเกษตร ผู้ถือครองทำการเกษตรมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร ตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไปมากที่สุด (ร้อยละ 28.6) โดยกลุ่มนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ถึงร้อยละ 18.9
9. หนี้สินของครัวเรือนผู้ถือครองทำการเกษตร ผู้ถือครองทำการเกษตรเกือบครึ่งหนึ่งเป็นครัวเรือนที่มีหนี้สิน (ร้อยละ 42.9) ซึ่งในจำนวนนี้มีหนี้สินเพื่อการเกษตรร้อยละ 36.9 (เฉลี่ย 124,604 บาทต่อครัวเรือนที่เป็นหนี้) โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 70.9 กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 มกราคม 2557--จบ--