คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2555 ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ข้อเสนอเชิงนโยบาย
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นที่สำคัญต่อความมั่นคงและการพัฒนาของประเทศ สำหรับประเด็นที่เร่งด่วนและมีช่องทางเอื้อให้ดำเนินการได้ทันทีในระยะสั้น ได้แก่
1.1 การนำพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ไปดำเนินการให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด แม้ว่าจะมีระบบเบี้ยยังชีพมาเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานแล้ว แต่มิได้หมายความว่าจะเพียงพอและเป็นหลักประกันที่มั่นคง รวมทั้งระบบที่รัฐให้แต่ฝ่ายเดียวนั้น คงยากที่จะรองรับปริมาณประชากรผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อันอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านการเงินการคลังของประเทศในอนาคต การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในวัยสูงอายุนั้น ควรเน้นให้ประชากรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ การออมจึงเป็นรูปแบบหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพยายามผลักดันให้มีกองทุนการออมแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออมเมื่อยามสูงอายุโดยรัฐช่วยสมทบ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัย รัฐควรเร่งดำเนินการเรื่องกองทุนการออมแห่งชาติให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งเร่งพัฒนาระบบหลักประกันทางเศรษฐกิจในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย
1.2 การผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ มีการดำเนินงานค่อนข้างล่าช้า ไม่ต่อเนื่องกลจักรสำคัญที่จะผลักดันให้งานด้านผู้สูงอายุขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องได้รวดเร็วขึ้น คือ การกระตุ้นและส่งเสริมให้ อปท. เข้ามารับผิดชอบงานด้านการส่งเสริม พัฒนาศักยภาพและคุ้มครองผู้สูงอายุในชุมชนของตนอย่างเป็นระบบ หาก อปท. ได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจ จะสามารถเข้าถึงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย มีงบประมาณ และสามารถเป็นแกนหลักในการดึงพลังสมาชิกในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมผนึกกำลังกันทำงานได้
2. การเปลี่ยนแปลงทางประชากร และข้อมูลสถิติที่สำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุ
จากผลการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2583 สัดส่วนของประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สัดส่วนของประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 13.2 ใน พ.ศ. 2553 เป็นร้อยละ 32.1 ใน พ.ศ. 2583 ในปี พ.ศ. 2560 จะเป็นปีที่สัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุ สัดส่วนของผู้สูงอายุวัยปลายจะเพิ่มจากประมาณร้อยละ 12.7 ของประชากรสูงอายุทั้งหมดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของประชากรสูงอายุ ปัญหาสุขภาพประชากรสูงอายุจากข้อมูลพบว่า ในปี พ.ศ. 2554 ผู้สูงอายุมีปัญหาด้านการมองเห็นร้อยละ 47.4 เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2550 เล็กน้อย โดยปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุ มีปัญหาด้านการได้ยิน ประมาณร้อยละ 15 นอกจากนี้ยังพบปัญหาในด้านศักยภาพในการควบคุม การเคลื่อนไหว การพลัดตกหกล้ม การควบคุมระบบการขับถ่าย รวมทั้งข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุในปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2554 แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงที่เป็นโสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หมายความว่าประชากรกลุ่มนี้จะไม่มีโอกาสได้รับการเกื้อหนุนจากคู่สมรสหรือบุตรในยามบั้นปลายของชีวิต แนวโน้มการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุตามลำพังเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุไทยประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมดยังคงทำงานเชิงเศรษฐกิจ แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุ 3 อันดับแรก คือ บุตร การทำงาน และเบี้ยยังชีพ
3. ความสำเร็จและความท้าทายในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ
จากการติดตามและประเมินแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2550 – 2554) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ สะท้อนว่าการดำเนินงานในภาพรวมของประเทศยังผ่านในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ประเทศไทยยังต้องเร่งดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุต่อไป เพื่อให้สามารถรองรับอัตราการเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมสูงวัย โดยผลจากการวิจัยเชิงคุณภาพชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน คือการขาดความต่อเนื่องของนโยบายและการทำงานด้านผู้สูงอายุขึ้นกับผู้นำประเทศเป็นสำคัญ การขาดการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและขาดงบประมาณสนับสนุน ชมรมผู้สูงอายุยังขาดความเข้มแข็ง และ อปท. ยังมีข้อจำกัดด้านกำลังคน ความรู้ด้านผู้สูงอายุ และระเบียบข้อบังคับในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่องานด้านผู้สูงอายุ เพื่อให้งานด้านผู้สูงอายุก้าวหน้าต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มีนาคม 2557--จบ--