ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2556 และแนวโน้มปี 2557

ข่าวการเมือง Tuesday March 25, 2014 13:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2556

เศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ชะลอตัวค่อนข้างมากจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ในปี 2555 เนื่องจากฐานการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนเอกชนในช่วงครึ่งหลังปี 2555 สูงกว่าแนวโน้มปกติ โดยที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกที่ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งสูงถึง 211,474 คัน ในไตรมาสสี่ปี 2555 จึงส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศรวมชะลอตัวลงมาก ประกอบกับในช่วงปลายปีความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง การใช้จ่ายของครัวเรือนโดยรวมทั้งปีจึงขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 การลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 2.8 และการใช้จ่ายรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐก็ชะลอตัวลงและปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการยังชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว รวมทั้งสินค้าส่งออกเกษตรประสบปัญหาโรคตายด่วนในกุ้งและสินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตหน่วยความจำของฮาร์ดดิสก์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น โดยรวมทั้งปี 2556 มูลค่าการส่งออกสินค้าเท่ากับ 225,397 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.2

การใช้จ่ายและการส่งออกที่ชะลอตัวส่งผลให้การผลิตในทุกสาขาชะลอลงทั้งปี 2556 ภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 1.4 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.1 ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.2 และสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 12.1 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 26.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังคงมีเสถียรภาพที่มั่นคงโดยที่อัตราการว่างงานทั้งปีเท่ากับร้อยละ 0.7 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 2.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.6 ต่อ GDP

2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2557

สมมติฐานการประมาณการในครั้งนี้ ประกอบด้วย เศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 3.1 ในปี 2556 ราคาน้ำมันดิบดูไบจากเฉลี่ยร้อยละ 102.5 – 107.5 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล ปรับลดจาก 105 – 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในการประมาณการครั้งที่แล้วและค่าเงินบาทเฉลี่ย 32.0 – 33.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากเดิมซึ่งคาดว่าจะเฉลี่ย 31.5 – 32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สศช. คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 ดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2556 โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะ ฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 3.1 ในปี 2556 การท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.0 ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนและอัตราการขยายตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในส่วนที่ได้มีการผูกพันไว้แล้ว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่ขอรับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไว้แล้วและสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการอนุมัติในช่วงครึ่งหลังของปีได้ โดยคาดว่าการปรับปรุงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนจะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

โดยรวมจึงคาดว่าข้อจำกัดของอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนตัวจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำกว่าร้อยละ 4.0 – 5.0 ที่เคยประมาณการไว้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 เนื่องจากความล่าช้าของการดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐและการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง

สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจคาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.9 – 2.9 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศยังขยายตัวไม่มาก ประกอบกับราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไม่มาก อัตราการว่างงานจะยังต่ำไม่เกินร้อยละ 1 ดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งคาดว่าจะขาดดุลร้อยละ 0.2 ของ GDP ลดลงจากการขาดดุลร้อยละ 0.6 ของ GDP ในปี 2556

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 มีนาคม 2557--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ