คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... (กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 45 วรรคสอง) ตามที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการออกข้อกำหนดของศาลเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ
2. กำหนดให้มีพนักงานคดีรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ช่วยเหลือในกระบวนพิจารณาของศาลตามที่ ศาลมอบหมาย โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดของศาล สำหรับคุณสมบัติหลักเกณฑ์ และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้ง และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งพนักงานคดีรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ศาลกำหนด
3. กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีตามรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
4. เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของตุลาการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ศาลกำหนด สำหรับค่าพาหนะเดินทาง ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายอื่นในกรณีเดินทางไปราชการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ศาลกำหนด
5. กำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ระบบไต่สวน
6. กำหนดหลักเกณฑ์การยื่นคำร้องและการจำหน่ายคดี โดยคำร้องต้องทำเป็นหนังสือระบุเรื่อง อันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ
7. กำหนดองค์คณะของศาลในการพิจารณาคดีและในการทำคำวินิจฉัยต้องประกอบด้วย ตุลาการไม่น้อยกว่า 5 คน และคำวินิจฉัยของศาลให้มีผลในวันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำวินิจฉัยนั้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ตุลาคม 2557--จบ--