ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Joint Statement on Climate Chage 2014)

ข่าวการเมือง Tuesday October 28, 2014 18:48 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Joint Statement on Climate Chage 2014)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เป็นผู้ให้การรับรองในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ นี้

3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ขอให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่จนสิ้นสุดกระบวนการกล่าวถ้อยแถลง ณ ที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสมัยที่ 20 ในเดือนธันวาคม 2557 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู

สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ สรุปได้ดังนี้

1. ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวด้านการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ เช่น การร้องขอ การสนับสนุนสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในบริบทตามวรรค 2 (d) ของข้อตัดสินใจที่ 1/C.19 ในการเตรียม Interded Nationally Determined Contributions (INDC) และเพื่อดำเนินการให้เกิดโอกาสในการพัฒนาแนวทางคาร์บอนต่ำที่จะช่วยสนับสนุนความพยายามในการลดก๊าซรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการมุ่งไปยังการพัฒนาพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และภาคป่าไม้ ซึ่งควรรวมไว้ใน INDC และการเพิ่มความร่วมมือในการปรับปรุงขีดความสามารถร่วมกันในการจัดการสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศ รวมทั้งการทำวิจัยร่วมเพื่อให้เข้าใจดีขึ้นว่า สภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลต่อระบบสภาพอากาศในภูมิอาเซียน และการพัฒนาเทคโนโลยีว่าด้วยการคาดการณ์และพยากรณ์สภาพภูมิอากาศจะช่วยให้จัดการกับความเสี่ยงได้ดีขึ้น ตลอดจนการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้มีอำนาจตัดสินใจจากภาคส่วนต่าง ๆ และจากสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่าง เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับกิจกรรมของมนุษย์และการพัฒนา และพัฒนาขยายสู่ระดับภูมิภาค สู่การจัดทำแบบจำลองภูมิอากาศที่มีรายละเอียดสูงสำหรับภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้บรรลุผลในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและการแก้ไขปัญหาความยากจนในภูมิภาคอาเซียนด้วย โดยส่งเสริมความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมิให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และการปรับตัวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้หลักการของการรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน

2. การสนับสนุน Warsaw Framework of Reducing Emissions from Deforestation and Forest Degradation (REDD+) พร้อมทั้งเน้นย้ำให้เกิดการรักษาและจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนเพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนรวมทั้งเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจชุมชน

3. ผลักดันประเทศพัฒนาแล้วเพื่อให้จัดลำดับความสำคัญในการสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีในระยะยาวแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

4. มีความเห็นสอดคล้องกับการดำเนินการตามข้อตกลง Decision 1/CP.17 ในอันดับที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุข้อตกลงใหม่ภายในปี 2558 เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในปี 2563 อาทิ การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวรวมถึงเน้นย้ำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเสริมสร้างศักยภาพและการช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้วสู่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ และการสนับสนุนที่กำหนดอย่างมุ่งมั่นระดับชาติ

5. บทบาทในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน ควรเป็นการดำเนินการที่ได้รับการสนับสนุนและร่วมมือกันตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ