คค. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า
1. พระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะในการใช้บังคับกับการจำนองเรือเดินทะเลโดยตรงและกำหนดบุริมสิทธิทางทะเลสำหรับเรือเดินทะเลโดยบังคับใช้เฉพาะเรือที่ต่อหรือสร้างเสร็จแล้วเท่านั้นที่จะนำมาเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ได้ซึ่งไม่เหมาะกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้เจ้าของเรือที่อยู่ระหว่างการต่อหรือสร้างสามารถใช้เป็นหลักประกันแก่ผู้ให้สินเชื่อในการจดทะเบียนได้ตามกฎหมายอันเป็นอุปสรรคต่อเจ้าของเรือในการจัดหาเรือใหม่และการส่งเสริมกิจการต่อเรือและธุรกิจพาณิชยนาวีของประเทศ
2. คค. โดยกรมเจ้าท่าได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้กฎหมายว่าด้วยการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเลเปิดโอกาสให้เจ้าของเรือสามารถจัดหาเรือใหม่เพิ่มเติมและพัฒนากองเรือของตนเองได้โดยใช้ทรัพย์สินที่เป็นเรือที่อยู่ระหว่างการต่อหรือสร้างมาเป็นหลักประกันแก่ผู้ให้สินเชื่อ และเพื่อเป็นการส่งเสริมกิจการต่อเรือและธุรกิจพาณิชยนาวีของประเทศ จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล พ.ศ. 2537 โดยเพิ่มเติมหลักการดังกล่าวข้างต้นตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการ การดำเนินการไว้ในบทบัญญัติของกฎหมาย
3. ทั้งนี้ คค. โดยกรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเข้าร่วมดำเนินการ รวมทั้งจัดให้มีการสัมมนาประชาพิจารณ์ระดมความคิดเห็นจากผู้มาส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในทุกมาตราโดยไม่มีการแก้ไข
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “เรือที่อยู่ระหว่างการต่อ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำที่ยังไม่มีสภาพเป็นเรือตามความหมายของพระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล พ.ศ. 2537 แต่อยู่ในระหว่างการต่อหรือสร้าง โดยได้วางกระดูกงูแล้วไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งเมื่อต่อเสร็จแล้วจะมีสภาพเป็นเรือตามความหมายของคำว่าเรือในพระราชบัญญัตินี้
2. กำหนดให้เฉพาะบุคคลที่สามารถถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2540 มาตรา 7 หรือ มาตรา 7 ทวิ สามารถนำเรือที่อยู่ในระหว่างการต่อหรือสร้างมาจำนองได้
3. กำหนดให้การจดทะเบียนจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน และให้แนบสำเนาสัญญาจ้างต่อหรือสร้างเรือด้วย
4. กำหนดให้การจำนองเรือที่อยู่ระหว่างการต่อหรือสร้างยังมีผลต่อไป แม้เรือได้ถูกต่อเรือหรือสร้างเสร็จแล้ว
5. กำหนดให้สัญญาจำนองเรือที่อยู่ระหว่างต่อหรือสร้างให้รวมไปถึงสัมภาระ เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ที่ได้นำมาประกอบหรือติดตั้งในเรือที่อยู่ระหว่างการต่อและให้รวมถึงที่อยู่ในบริเวณอู่ต่อเรือซึ่งได้ หมายหรือกำหนดหรือสามารถระบุได้โดยวิธีอื่นใดว่าสัมภาระ เครื่องยนต์ และอุปกรณ์นั้นจะนำมาใช้กับการต่อเรือลำนั้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557--