เรื่อง การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2558 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
มท. รายงานว่า ได้คาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งจากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่น พบว่ามีแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วงในปี 2558 จะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยอาจเกิดเร็วขึ้น มีห้วงเวลาที่ยาวนานขึ้น และมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2558 มท. จึงจัดทำคำชี้แจง ดังนี้
1. การกำหนดพื้นที่เป้าหมายซึ่งคาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้ง มีการพิจารณาหลักเกณฑ์พื้นที่ซึ่งคาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้ง ดังนี้
1.1 ข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมเฉลี่ย พบว่าปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย ปี 2557 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี
1.2 ข้อมูลคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนห้วง 3 และ 6 เดือน พบว่า เกณฑ์ปริมาณน้ำฝนอยู่ในระดับต่ำ ยกเว้นภาคใต้
1.3 ข้อมูลน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ พบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ ปี 2557 ต่ำกว่าปี 2556 ถึง 8,579 ล้านลูกบาศก์เมตร
1.4 ข้อมูลระบบประปาทุกระบบ ประเทศไทยมี 23 ล้านครัวเรือน มีครัวเรือนที่ไม่มีระบบประปาใช้ จำนวนร้อยละ 17 มีระบบประปาใช้ร้อยละ 83 ประกอบด้วย การประปานครหลวงร้อยละ 9 การประปาส่วนภูมิภาคร้อยละ 16 การใช้ระบบประปาท้องถิ่นร้อยละ 58
1.5 ข้อมูลหมู่บ้านที่มีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค ย้อนหลัง 3 ปี (2555 - 2557) จำนวน 74,963 หมู่บ้าน ปรากฏว่ามีหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุโภคบริโภคต่อเนื่อง 3 ปี จำนวน 9,535 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 12.72 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ต้องเฝ้าระวังและติดตาม
2. การเตรียมการเพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคใช้
2.1 การขุดลอกคูคลอง ได้ดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าจะเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง 31 จังหวัด จำนวน 259 โครงการ
2.2 การผลิตน้ำประปา
2.2.1 สนับสนุนการจัดสรรน้ำดิบเพื่อการผลิตให้กับการประปาส่วนภูมิภาคและการประปาท้องถิ่นได้ตลอดฤดูแล้ง โดยประสานกรมชลประทานให้จ่ายน้ำอย่างต่อเนื่อง ขุดลอกแหล่งน้ำดิบและซ่อมบ่อบาดาลที่เป็นแหล่งน้ำดิบ
2.2.2 สนับสนุนน้ำประปาท้องถิ่นให้สามารถแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้งได้อย่างเพียงพอ
2.2.3 เร่งรัดการก่อสร้างระบบประปาท้องถิ่นเพิ่มเติมในพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าจะประสบภัยแล้ง 31 จังหวัด จำนวน 929 โครงการ
2.2.4 วางระบบการกระจายน้ำ โดยรถบรรทุกน้ำไปยังหมู่บ้านที่ไม่มีระบบประปา จำนวน 482 หมู่บ้าน และหมู่บ้านที่มีระบบประปาแล้วแต่ชำรุด จำนวน 1,183 หมู่บ้าน
2.3 การจัดการระบบน้ำบาดาล
2.3.1 ข้อมูลบ่อบาดาล มีจำนวนบ่อบาดาล 152,849 บ่อ
2.3.2 อยู่ในพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง 31 จังหวัด จำนวน 79,595 บ่อ ชำรุด 19,410 บ่อ สามารถซ่อมแซมให้ทันใช้งานในฤดูแล้งนี้ 14,623 บ่อ
3. แผนเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย
3.1 สำรวจพื้นที่ หมู่บ้าน ตำบล ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง
3.2 จัดเตรียมบุคลากร เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติงาน
3.3 สำรวจภาชนะรองรับน้ำ และจุดแจกจ่ายน้ำกลางประจำหมู่บ้านพร้อมทำแผนแจกจ่าย
4. แผนปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ
4.1 บูรณาการร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการกำหนดจุดจ่ายท่อธารน้ำ ซึ่งเป็นจุดบริการน้ำอุปโภคบริโภคของสำนักงานประปาส่วนภูมิภาคทุกสาขาทั่วประเทศ 234 แห่ง รวมถึงระบบประปาของท้องถิ่น
4.2 นำรถราชการบรรทุกน้ำสะอาดไปยังจุดจ่ายน้ำกลางโดยกำหนดรอบเวลาและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง
4.3 บูรณาการร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อแบ่งหน้าที่และพื้นที่ความรับผิดชอบ โดยประสานกระทรวงสาธารณสุขให้ดูแลรักษาสุขภาพประชาชน ให้ความรู้กรณีโรคระบาดในช่วงฤดูแล้ง ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับจากอาชญากรรมในช่วงฤดูแล้ง ให้กระทรวงกลาโหมและศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของทุกเหล่าทัพบูรณาการแผนปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้ง ส่วน มท. จะบูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมรายได้แก่ประชาชน ผู้ประสบความเดือดร้อนจากการว่างงาน ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร โดยการจ้างแรงงานเพื่อทำงานในโครงการของส่วนราชการที่จัดสรรงบประมาณลงในพื้นที่
5. แผนการสร้างความเข้าใจในข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน
5.1 นโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรี มาตรการและแผนปฏิบัติการของส่วนราชการต่าง ๆ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอประชุมร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยให้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องในนโยบายการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ตลอดจนสร้างความตระหนักและขอความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด
5.2 การปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ เพื่อรับข้อมูลปัญหาและข้อเรียกร้องจากประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน ให้นำเสนอให้รัฐบาลเพื่อพิจารณาแนวทางให้การช่วยเหลือต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557--