เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนฉุกเฉินเพื่อประสานงานและการจัดการอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง และระเบียนว่าด้วยการจัดการค้นหาและช่วยเหลือ การกู้ภัยและการเคลื่อนย้ายซากเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง
คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบแผนฉุกเฉินเพื่อประสานงานและการจัดการอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือใน แม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง และระเบียบว่าด้วยการจัดการค้นหาและช่วยเหลือ การกู้ภัย และการเคลื่อนย้ายซากเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนาม
3. เห็นชอบให้กรมเจ้าท่า คค. เป็นหน่วยงานปฏิบัติและประสานงานหลักในการดำเนินการ ตามแผนฉุกเฉินเพื่อประสานงานและการจัดการอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง และระเบียบว่าด้วยการจัดการค้นหาและช่วยเหลือ การกู้ภัย และการเคลื่อนย้ายซากเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง
4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้แทนสำหรับการลงนามทั้งสองฉบับ
สาระสำคัญของแผนฉุกเฉินเพื่อประสานงานและการจัดการอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง มีดังนี้
1. การบังคับใช้แผนฉุกเฉินดังกล่าวจะใช้กับอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือที่เกิดขึ้นใน ร่องน้ำทางเดินเรือที่ระบุไว้ในความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขง คือช่วงระหว่างท่าเรือ ซือเหมา สาธารณรัฐประชาชนจีนและท่าเรือหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเกี่ยวข้องกับประเทศภาคีตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป
2. คำนิยามของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันเกี่ยวกับการเดินเรือในแม่น้ำล้าน ช้าง – แม่น้ำโขง ไว้ว่า หมายถึงอุบัติเหตุฉุกเฉินใด ๆ ที่เกิดขึ้นในร่องน้ำทางเดินเรือที่ระบุไว้ในความตกลงฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศภาคีตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป โดยอุบัติเหตุนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับการเดินเรือซึ่งเป็นหรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และทำลายสิ่งแวดล้อมอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือนี้จะหมายความรวมถึงอุบัติเหตุจากการจราจรทางน้ำ เช่น เรือจมหรือโดนกัน เรือชนโขดหินหรือติดตื้น ไฟไหม้เรือ หรืออุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของท่าเรือ สารเคมีอันตรายรั่วไหล เป็นต้น ทั้งนี้ อุบัติเหตุดังกล่าวจะต้องเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินหรืออุบัติเหตุใด ๆ ซึ่งทำให้การเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำโขงสร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมและทำลายระบบนิเวศวิทยา
3. ประเภทของอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามระดับและผลกระทบ ต่อชีวิต ทรัพย์สิน ระบบนิเวศวิทยา และภัยคุกคามต่อความปลอดภัยในการเดินเรือที่เกิดจากอุบัติเหตุดังกล่าว คือ (ก) อุบัติเหตุธรรมดา ซึ่งไม่มีคนตายหรือสูญหาย หรือมูลค่าความเสียหายต่ำกว่าหนึ่งแสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่ทำให้ร่องน้ำ หรือระบบนิเวศวิทยาเสียหายหรือไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินเรือ หรือการทำงานตามปกติ หรือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนริมแม่น้ำ และ (ข) อุบัติเหตุร้ายแรง ซึ่งมีคนตายหรือสูญหาย หรือมูลค่าความเสียหายเท่ากับหรือสูงกว่า หนึ่งแสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือทำให้ร่องน้ำหรือระบบนิเวศวิทยาเสียหาย หรือส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินเรือ หรือการทำงานตามปกติ หรือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนริมแม่น้ำ
4. การกำหนดหลักการของการประสานงานและการจัดการกับเหตุฉุกเฉิน โดยกำหนดให้ ประเทศภาคีต้องยึดหลักการของการเคารพอำนาจอธิปไตยซึ่งกันและกัน หลักความเท่าเทียมกัน และหลักมิตรภาพในการจัดการกับอุบัติเหตุและยึดหลักการในการปฏิบัติงาน ได้แก่ (ก) ช่วยประชาชนก่อนและลดความเสียหาย (ข) จัดการด้วยความรวดเร็วและให้ได้ผลดี และ (ค) เสริมสร้างความแข็งแกร่งของการประสานงานและความร่วมมือ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557--