เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้การคุ้มครองผู้แจ้งเหตุการค้ามนุษย์ โดยให้บุคคลที่พบเห็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ สามารถแจ้งแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจให้ทราบโดยไม่ชักช้า และหากการแจ้งเรื่องดังกล่าวถ้าได้กระทำโดยสุจริต ผู้แจ้งย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญาและทางปกครอง แม้ภายหลังปรากฏว่าไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์
2. กำหนดให้ทรัพย์ที่ริบได้จากการกระทำความผิดค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้นำทรัพย์ที่ริบได้กึ่งหนึ่งมาชดใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย และหากยังมีเหลือให้นำเข้ากองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
3. เพิ่มอำนาจทางปกครองให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายในการเข้าไปตรวจตรา และหากพบการกระทำความผิดค้ามนุษย์ แต่ไม่สามารถชี้แจงหรือพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้กระทำความผิดค้ามนุษย์ ให้ปิดสถานประกอบกิจการ โรงงาน อาคาร หรือสั่งห้ามใช้เรือและยานพาหนะ เป็นการชั่วคราว
4. ปรับปรุงองค์ประกอบการคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยเพิ่มเติมผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมายนี้
5. เพิ่มบทลงโทษให้สูงขึ้น กรณีที่ทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ความตาย และเพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้น เพราะการค้ามนุษย์มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงเพื่อยับยั้งและลดแรงจูงใจในการค้ามนุษย์
6. กำหนดให้ค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำส่งคลัง โดยให้ค่าปรับตกเป็นทรัพย์สินของกองทุน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ธันวาคม 2557--