ของความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยวิสัยทัศน์ในอนาคตของหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี
“สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและความสุข” สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยวิสัยทัศน์ในอนาคตของหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี “สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและความสุข” และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่มีผลผูกพันเพิ่มเติมต่อไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ เนื่องในโอกาสครบครอบ 25 ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 11-12 ธันวาคม 2557 ที่นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดยในระหว่างการประชุมดังกล่าว จะมีการรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ เพื่อให้การประชุมมีผลที่เป็นรูปธรรม
2. ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมของผู้นำของไทยในการสนับสนุนความร่วมมือในกรอบอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี และแสดงถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีในการส่งเสริมความร่วมมือกันในอนาคตเพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์โดยครอบคลุมสาขาความร่วมมือหลัก ได้แก่ การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนแสดงวิสัยทัศน์ร่วมกันในการพัฒนาความร่วมมืออาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ให้สามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในอนาคต ซึ่งร่างแถลงการณ์ร่วม ฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
2.1 ความร่วมมือทางการเมือง – ความมั่นคงเพื่อสันติภาพร่วมกัน
2.2 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและความก้าวหน้าร่วมกัน
2.3 ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมเพื่อความสุขร่วมกัน
2.4 ความเชื่อมโยงระหว่างกันของอาเซียน
2.5 ประเด็นระดับภูมิภาคและนานาชาติ มีดังนี้
2.5.1 เพิ่มพูนการเจรจาและการสร้างบรรยากาศที่ช่วยให้มีการสานต่อการประชุมร่วม 6 ฝ่ายโดยเร็ว อันจะเป็นการเปิดทางไปสู่การปลอดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสันติบนคาบสมุทรเกาหลี
2.5.2 เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน และโรคติดต่อ
2.5.3 การปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
2.6 การจัดระเบียบการดำเนินงาน โดยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐเกาหลีที่มีต่อกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนและความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี โดยใช้กองทุนความร่วมมือพิเศษอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี และกองทุนความร่วมมือเพื่ออนาคตอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ พ.ศ. 2559 – 2563
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 ธันวาคม 2557--