เรื่อง การแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) เอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 (the 5 th GMS Summit) และงบประมาณค่าใช้จ่ายจัดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศครั้งที่ 5 (the 5th GMS Summit)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในการแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS (GMS Minister) เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของประเทศไทยภายใต้แผนงานความร่วมมือ GMS รวมทั้งเพื่อปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีตามกำหนดการประชุมที่สำคัญดังกล่าว
2. เห็นชอบต่อเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 (the 5 th GMS Summit) ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 5 (the 5 th GMS Summit Joint Summit Declaration : JSD) และ (2) แผนปฏิบัติการภายใต้กรอบการลงทุนในภูมิภาค (Regional Investment Framework- Implementation Plan : RIF-IP) ที่จะได้มีการรับรองโดยไม่มีการลงนามในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 (the 5 th GMS Summit) ในระหว่างวันที่ 19 - 20 ธันวาคม 2557 ณ โรงแรมแชงกรี ลา กรุงเทพมหานคร โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สามารถปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก
3. เห็นชอบการอนุมัติงบประมาณจากงบกลาง ปี 2558 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 เพื่อการผลักดันการดำเนินงานภายใต้แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ประจำปีงบประมาณ 2558 เพิ่มเติม โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ
4. เห็นชอบการกำหนดองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 (the 5 th GMS Summit) ในระหว่างวันที่ 19 - 20 ธันวาคม 2557 ณ โรงแรมแชงกรี ลา กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำฯ อย่างไม่เป็นทางการ (Summit Retreat) ประกอบด้วย (1) นายกรัฐมนตรี (2) รองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) (3) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร) (4) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS (5) เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ (6) รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายปรเมธี วิมลศิริ) ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่อาวุโส
สาระสำคัญแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบการลงทุนในภูมิภาค (Regional Investment Framework-Implementation Plan : RIF-IP)
1. แผนปฏิบัติการของกรอบการลงทุนของภูมิภาค (RIF-IP) อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กำหนดโครงการที่มีความสำคัญสูง เพื่อดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2557 - 2561 ประกอบด้วย โครงการในลำดับความสำคัญสูงจำนวน 92 โครงการ เป็นโครงการลงทุนจำนวน 60 โครงการ และโครงการความช่วยเหลือทางเทคนิคจำนวน 32 โครงการ โดยมีงบประมาณทั้งหมดเป็นเงิน 30,100 ล้านเหรียญดอลลาร์ สรอ. โดยงบที่ประมาณลงทุนในสาขาคมนาคมเป็นสัดส่วนสูงที่สุด (ร้อยละ 89.0) ของโครงการลงทุนทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศสมาชิก GMS มีความต้องการในการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคม โดยเฉพาะตามแนวระเบียงเศรษฐกิจอย่างมาก
2. มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในการติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการของกรอบการลงทุนของภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน (1) การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (2) การศึกษาความเป็นไปได้ (3) กำหนดงบประมาณ (4) การอนุมัติโครงการ และ (5) การเริ่มดำเนินงานโครงการ
3. มีการรายงานขั้นตอนและความก้าวหน้า โดยได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานและการติดตามความก้าวหน้าภายใต้แผนปฏิบัติการของกรอบการลงทุนของภูมิภาคซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน (1) การรายงานสถานะของโครงการ (2) รายงานความก้าวหน้าในแต่ละภาคส่วน (3) การรายงานความก้าวหน้าของแผนปฏิบัติการของกรอบการลงทุนของภูมิภาค และ (4) การทบทวนแผนปฏิบัติการของกรอบการลงทุนของภูมิภาค
4. มีการจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการรายงานความก้าวหน้าและทบทวนการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการของกรอบการลงทุนของภูมิภาค
5. การระดมทุน ประกอบด้วย
1) แหล่งเงินทุนหลักที่สนับสนุนการดำเนินโครงการของ GMS
2) การเพิ่มแหล่งเงินทุนสามารถกระทำได้โดยการพัฒนาเครือข่ายความเชื่อมโยงและพัฒนาความร่วมมือกับโครงการอื่น ๆ ในภูมิภาคและอนุภูมิภาค
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 ธันวาคม 2557--