คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
รง. เสนอว่า เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2551 ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่มีอัตราค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น สมควรปรับปรุงอัตราค่ารักษาพยาบาลให้มีความเหมาะสม เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2551
2. เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท
3. ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วนและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
(2) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
(3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ
(4) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง หรือรากประสาท
(5) ประสบภาวะที่ต้องผ่าตัดต่ออวัยวะที่ยุ่งยากซึ่งต้องใช้วิธีจุลศัลยกรรม
(6) ประสบอันตรายจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ความร้อน ความเย็นสารเคมี รังสี ไฟฟ้า หรือระเบิด จนถึงขั้นสูญเสียผิวหนังลึกถึงหนังแท้ตั้งแต่ร้อยละ 25 ของพื้นที่ผิวของร่างกาย
(7) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรังตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
4. ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 3 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 และข้อ 3 แล้ว ต้องไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (1) ถึง (6) ตั้งแต่สองรายการขึ้นไป
(2) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (1) ถึง (6) ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยวิกฤต หรือ หอผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ตั้งแต่ 20 วันขึ้นไป
(3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของระบบสมองหรือไขสันหลังที่จำเป็นต้องรักษาตั้งแต่ 30 วันติดต่อกัน
(4) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรังตามข้อ 3 (7)
(ก) เป็นผลให้อวัยวะสำคัญล้มเหลว
(ข) กรณีอื่นนอกจาก (ก) ให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์
(5) ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 4 สำหรับลูกจ้างรายใดไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาล ตามข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
(6) ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 4.5 สำหรับลูกจ้างรายใดไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 แล้ว ต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท
(7) ลักษณะการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่คณะกรรมการการแพทย์พิจารณาให้ความเห็นว่า นายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามความในข้อ 5 หรือ ข้อ 6 ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
(8) การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6 หากลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้องค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเท่าทีจ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท
(9) กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับรวมถึงลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับซึ่งเป็นผู้ป่วยในที่เข้ารักการรักษาพยาบาลเป็นครั้งแรกและยังคงรักษาพยาบาลอยู่จนถึงวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 ธันวาคม 2557--