คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับระบบการอุทธรณ์และฎีกา รวม 9 ฉบับ ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. ....
1.1 กำหนดคำนิยาม “คดีชำนัญพิเศษ” หมายความถึง คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีภาษีอากร คดีแรงงาน คดีล้มละลาย คดีเยาวชนและครอบครัว
1.2 กำหนดให้จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้น และให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์มาจากศาลชำนัญพิเศษ ได้แก่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลคดีภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลล้มละลาย และศาลเยาวชนและครอบครัว
1.3 กำหนดให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นศาลชั้นอุทธรณ์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
1.4 กำหนดบทเฉพาะกาล ในระหว่างที่ยังไม่เปิดทำการศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้ศาลฎีกาคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์จากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลภาษีอากร ศาลแรงงาน และศาลล้มละลาย และให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์จากศาลเยาวชนและครอบครัวในระหว่างนั้นได้จนกว่าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะเปิดทำการ
2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
2.1 กำหนดบทนิยามคำว่า “ศาลชั้นอุทธรณ์” เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
2.2 กำหนดให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมซึ่งกำกับดูแลการบริหารราชการศาลยุติธรรมมีอำนาจออกประกาศเปิดทำการสาขาของศาลชั้นต้นในท้องที่อื่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มีอรรถคดีซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งมีอำนาจกำหนดสถานที่ตั้งของศาล แผนกหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นของศาล รวมทั้งสาขาของศาลชั้นต้นได้ด้วย
2.3 กำหนดให้ผู้บริหารศาลมอบหมายให้ผู้พิพากษาของศาลนั้นทำคำพิพากษาคดีนั้นได้ เพื่อให้การบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)
3.1 แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” และ “ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
3.2 กำหนดให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย กรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือศาลยุติธรรมอื่น คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้เป็นที่สุด
3.3 กำหนดให้เมื่อมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับการโอนคดีของศาลแรงงาน ให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษชี้ขาดคดี
3.4 กำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงาน ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีแรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
4. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)
4.1 แก้ไขผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานศาลฎีกา
4.2 แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” “ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” และ “คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
4.3 กำหนดให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือศาลยุติธรรมอื่น คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้เป็นที่สุด
4.4 กำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และการแก้ไขปรับปรุง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
5. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)
5.1 แก้ไขผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานศาลฎีกา
5.2 กำหนดให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย กรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลล้มละลายหรือศาลยุติธรรมอื่น คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้เป็นที่สุด
5.3 กำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีล้มละลาย เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
6. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอุทธรณ์และฎีกา)
6.1 แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” “ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” และ “ก.บ.ศ.” เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
6.2 แก้ไขผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานศาลฎีกา
6.3 กำหนดให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย กรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่น คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้เป็นที่สุด
6.4 กำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภาษีอากรให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีภาษีอากร เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
6.5 กำหนดให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีภาษีอากร ให้เป็นที่สุดเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
7. ร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)
7.1 กำหนดให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีมีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น
7.2 กำหนดให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีเยาวชนและครอบครัวอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
7.3 กำหนดให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นที่สุด
7.4 กำหนดให้การอุทธรณ์ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ต้องเป็นปัญหาสำคัญอันควรขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์
7.5 กำหนดให้การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวกระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
8. ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา) และ
8.1 กำหนดให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้าและให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดียาเสพติดมีผลเป็นที่สุด
8.2 แก้ไขเพิ่มเติมให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้มีการฎีกาคดียาเสพติดตามหลักเกณฑ์แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
9. ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)
กำหนดให้การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มกราคม 2558--